รีเซต

7 ความท้าทายใหญ่ของ "ลิซ ทรัสส์" นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่

7 ความท้าทายใหญ่ของ "ลิซ ทรัสส์" นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่
TNN ช่อง16
6 กันยายน 2565 ( 19:09 )
92


เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (5 ก.ย.) มีการประกาศผลการเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ หลังจากการหาเสียงต่อเนื่องมานานกว่า 2 เดือน ซึ่งปรากฏว่า "ลิซ ทรัสส์" รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้ "ลิซ ทรัสส์" ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ แทนที่ "บอริส จอห์นสัน" ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมไปโดยปริยาย เนื่องจากอนุรักษนิยมเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล

สำนักข่าวบีบีซี ได้สอบถามบรรณาธิการข่าวจากหลากหลายโต๊ะข่าว เกี่ยวกับปัญหาสำคัญที่ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรคนใหม่ จะเผชิญทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง โดยสามารถขมวดออกมาได้เป็น 7 ความท้าทาย เริ่มจาก

1. ปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง

นี่คือความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด แกนสำคัญของปัญหานี้ อยู่ที่เรื่องของพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซ ซึ่งมีต้นสายปลายเหตุมาจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ บรรดาชาติยุโรปกำลังเร่งกักตุนก๊าซสำหรับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงด้วย

ผลที่ตามมาคือ ราคาพลังงานพุ่งสูงจนคนส่วนใหญ่ ไม่สามารถจ่ายได้ ดังนั้น การช่วยเหลือประชาชน เป้าหมายและกรอบเวลา จะเป็นตัวตัดสินการทำงานของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ 

ขณะเดียวกันราคาอาหารกำลังพุ่งสูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรพุ่งไปอยู่ที่ร้อยละ 15 ประกอบกับเงินปอนด์ สเตอร์ลิงอ่อนค่า และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้กลายเป็นค็อกเทลเศรษฐกิจที่เป็นพิษ และต้องการการแทรกแซงจากรัฐบาลย่างน่าเชื่อถือ รอบคอบ และมาถูกเวลา

2. วิกฤตของสำนักบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS

ก่อนหน้าที่จะมีโรคระบาด บริการของ NHS อยู่ในภาวะที่แย่ลงอยู่แล้ว แต่โรคระบาดยิ่งมาซ้ำเติมปัญหานี้ ชาวอังกฤษ 1 ใน 8 ต้องรอคิวยาวนานเพื่อรับการรักษาโรค 

ขณะเดียวกัน บรรดาสหภาพแรงงานต่างไม่พอใจกับรายได้ที่ได้รับและขู่ที่จะผละงาน ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นในขณะที่สหราชอาณาจักรกำลังจะเข้าสู่วงอากาศหนาว ที่คาดว่า จะมีผู้เป็นหวัด และติดโควิด-19 เพิ่มขึ้นไปอีก

3. การสนับสนุนยูเครนจะหนักแน่นเช่นเคยหรือไม่

ที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เสนอความช่วยเหลือดานการเมืองและการทหารให้แก่ยูเครนเป็นชาติแรกๆ มีการคาดการณ์ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะยังคงสนับสนุนยูเครนต่อไป และส่งอาวุธให้ยูเครนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามยืดเยื้อไปตามกาลเวลา ทรัสส์จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากบรรดาผู้ที่คลางแคลงใจว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจในการสนับสนุนยูเครนนั้น "คุ้มค่า" หรือไม่ ซึ่งเธอต้องโน้มน้าวประชาชนให้ ยอมไม่สบายทางการเงิน เพื่อปกป้องยูเครนต่อไป 

นอกจากนี้ ยังต้องทำงานทางการทูตอย่างหนักในกลุ่มพันธมิตรสนับสนุนยูเครนทั่วยุโรป เพราะอาจมีหลายประเทศที่ต้องการเจรจากับรัสเซียและยุติการสู้รบ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดเรื่องอุปทานพลังงาน

4. การสร้างความเป็นเอกภาพในพรรคอนุรักษ์นิยม

หลังจากการต่อสู้ในพรรคกันมาหลายเดือน การทำให้พรรคอนุรักษ์นิยม หรือ ทอรี่ กลับมาเป็นเอกภาพอีกครั้ง จึงเป็นความท้าทายทางการเมืองหลักของทรัสส์ 

บททดสอบแรก คือ การสอบสวนของคณะกรรมการพรรคว่าบอริส จอห์นสัน ทำผิดกรณีจัดปาร์ตี้ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีช่วงล็อกดาวน์โควิดหรือไม่ และนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้มีการลงมติลงโทษอย่างไรหากมีความผิด ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้นักการเมืองที่สนับสนุนนายจอห์นสันไม่พอใจ ในขณะที่ฝั่งที่ไม่ชอบ ก็จะมองว่าพรรคพยายามช่วยปกปิดความผิดอยู่

ความเป็นเอกภาพของพรรครัฐบาลนั้นสำคัญ ในเวลาที่รัฐบาลเผชิญปัญหาภายนอกรุมเค้า เพราะไม่เช่นนั้น จะยากที่จะผ่านนโยบายต่างๆที่เกี่ยวกับปากท้องของประชนได้นั่นเอง

5. การผ่าทางตันเรื่องไอร์แลนด์เหนือ

กรณีไอร์แลนด์เหนือ ยังเป็นปัญหาค้างคา การเจรจากับสหภาพยุโรปชะงักงันหลังรัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐมนตรีก้าวข้ามกฎระเบียบด้านการค้าบางส่วนหลังเบร็กซิตได้ ซึ่งนักการเมืองไอร์แลนด์เหนือส่วนใหญ่นั้น ต้องการให้ระเบียบการค้ายังคงไว้เช่นเดิม

6. กรณีสกอตแลนด์ต้องการทำประชามติแยกประเทศอีกครั้ง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้นำสหราชอาณาจักรมักเลือกไปเยือนสกอตแลนด์เป็นที่แรกนับตั้งแต่รับตำแหน่ง จึงน่าจับตาว่าทรัสส์จะทำเช่นนั้นหรือไม่ ขณะที่นิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ กำลังผลักดันให้มีการลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชณาจักรอีกครั้งในปีหน้า

ในเดือนตุลาคมนี้ ศาลสูงจะพิจารณาว่าสกอตแลนด์มีอำนาจจัดการลงประชามติครั้งที่สองโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ยินยอมหรือไม่ หากศาลติดสินไปทางสกอตแลนด์ ทรัสส์จะเผชิญความยุ่งยากว่า จะใช้มาตรการเชิงรุกในการยับยั้งหรือจะปล่อยให้สกอตแลนด์จัดประชามติได้ 

7. เป้าหมาย net zero ภายในปี 2050 ยังจะเป็นไปได้หรือไม่

ท่ามกลางวิกฤตราคาก๊าซพุ่งสูง นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องตัดสินใจโดยเร็วเกี่ยวกับพลังงานว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร และจะเดินหน้าทำตามเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 หรือจะละทิ้งพันธะสัญญาดังกล่าว


รายงาน : TNN WORLD TODAY

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง