"สสจ.สงขลา” เตือนระวังเชื้อไข้มาลาเรีย โนวไซ แพร่จากลิงสู่คนได้
“สสจ.สงขลา” เตือนระวังเชื้อไข้มาลาเรีย โนวไซ แพร่จากลิงสู่คนได้ หลังล่าสุดพบผู้ป่วยในพื้นที่สาธารณสุข 12 แล้ว 3 จังหวัดคือ “ยะลา-สตูล-สงขลา”
วันที่ 10 เม.ย. นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุข(สสจ.)สงขลา กล่าวว่า ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 12 พบโรคไข้มาลาเรียชนิด “โนวไซ” หรือ Plasmodium knowlesi พบรายงานผู้ป่วยสูงสุด คือ จ.ยะลา 22 คน คิดเป็นอัตราป่วย 0.042 ต่อพันประชากร รองลงมาคือจ.สตูล 5 คน คิดเป็น 0.016 ต่อพันประชากร และ จ.สงขลา 19 คน คิดเป็น 0.013 ต่อพันประชากร
นายแพทย์สงกรานต์ กล่าวว่า จ.สงขลาพบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ อ.รัตภูมิ รองลงมาคือ อ.นาทวี สะบ้าย้อย หาดใหญ่ และ อ.สะเดา ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 – 3 พ.ค.65
นายแพทย์สงกรานต์ กล่าวว่า โรคดังกล่าว เป็นโรคที่สามารถแพร่เชื้อจากลิงสู่คนได้ โดยยุงก้นปล่องกัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน ปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่ายุงสามารถนำเชื้อจากคนสู่คนได้ ลิงที่เป็นสัตว์รังโรคในไทย ได้แก่ ลิงกัง ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม และลิงอ้ายเงียะ หากประชาชนที่มีประวัติสัมผัสลิงในป่า มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติเข้าป่า เพื่อให้การรักษารวดเร็ว
“ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ทำงานในป่า นักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้ง”
นายแพทย์สงกรานต์กล่าวว่าสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย “โนวไซ” ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อปี 2547 และพบปีละประมาณ 10 รายมาตลอด ในปีงบประมาณ 2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิดนี้แล้ว 70 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน ระนอง ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 – 31 มี.ค.65
“มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มแข็ง โดยใช้เทคโนโลยีการรายงานผู้ป่วยผ่านระบบมาลาเรียออนไลน์ในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจ้งเตือนภัยทุกสัปดาห์ และเมื่อพบผู้ป่วยแต่ละราย มีการใช้มาตรการ 1-3-7 คือ รายงานผู้ป่วย ภายใน 1 วัน ติดตามสอบสวนการป่วย ภายใน 3 วัน และดำเนินการควบคุมกำจัดการแพร่เชื้อโรค ไข้มาลาเรีย “โนวไซ”อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใน 7 วัน มียารักษาที่เพียงพอ ดำเนินการสอบสวนโรคผู้ป่วยไข้มาลาเรีย “โนวไซ” ที่พบเพิ่มมากขึ้นอย่างละเอียด เพื่อวางแผนป้องกันควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสำรวจและควบคุมโรคในลิงที่เป็นรังโรคด้วย”