รีเซต

‘ธปท.’ รับโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจหดตัวชัดเจน คาดทั้งปี 63 ดิ่งทุกไตรมาส หวังฟื้นอีกทีปีหน้า

‘ธปท.’ รับโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจหดตัวชัดเจน คาดทั้งปี 63 ดิ่งทุกไตรมาส หวังฟื้นอีกทีปีหน้า
มติชน
31 มีนาคม 2563 ( 16:32 )
37
‘แบงก์ชาติ’ ยอมรับเศรษฐกิจไทยไร้วี่แววสดใส หลังเจอโควิด-19 ทำนักท่องเที่ยวต่างชาติวูบ ประเมินทั้งปีดิ่งหนักทุกไตรมาส แต่ลงลึกไตรมาส 2/63 หวังปี 64 ฟื้นตัวทั้งภาคการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจขยายตัว เดิมมองจีดีพีทั้งปีทรุดลบ 5.3% แม้รวมปัจจัยบวกทั้งแจกเงินได้มากกว่า 3 ล้านคน-พักชำระหนี้ ยังช่วยดึงจีดีพีย่อตัวได้เล็กน้อย รอดูรัฐอัดมาตรการเฟส 3 หากมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านบาท จะช่วยหนุนจีดีพีเพิ่ม 2-3%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 อยู่ในภาวะหดตัวอย่างชัดเจนในทุกส่วน โดยประเมินจากอุปสงค์ต่างประเทศ ในภาคการท่องเที่ยว การส่งออก-นำเข้า และภาคการผลิตที่หดตัวในทุกเซกเตอร์หลัง ได้แก่ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงที่สุด รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยจากที่ธปท.ได้ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย ในปี 2563 จะติดลบ 5.3% ซึ่งจะเป็นการหดตัวในทุกไตรมาส แต่จะหดตัวลึกที่สุดในไตรมาส 2 ปี 2563 ส่วนไตรมาส 3-4 จะเป็นการหดตัวที่น้อยลงไปตามลำดับ โดยสาเหตุมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปมากสุดในไตรมาส 2 และเชื่อว่าจะไม่มีเข้ามาเลย

หลังจากนี้ได้มีสมมุติฐานว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งในไตรมาส 3-4 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปของจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะแม้สถานการณ์ในประเทศจะคุมได้แบ้ว แต่สถานการณ์ในต่างประเทศก็ยังน่าเป็นห่วง โดยอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศในปีนี้มโดยเชื่อมั่นว่าในปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นบวกจากปีนี้ และมีโอกาสที่จะเห็นการค้นพบวัคซีนได้ ทำให้มีมุมมองเป็นบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจนายดอนกล่าว

นายดอนกล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีที่ประเมินว่าจะติดลบ 5.3% ได้รวมปัจจัยบวกทุกมาตรการไปแล้ว รวมถึงมาตรการแจกเงิน 5,000 บาทด้วย แต่ยังไม่ได้รวมมาตรการเชิงบวกในเรื่องการพักชำระหนี้ของธปท. ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง โดยในส่วนของการแจก 5,000 บาทที่รวมไปแล้ว ผลทางเศรษฐกิจได้คิดไว้แล้ว แต่คิดจากการที่รัฐบาลจะแจกเงินเยียวยาให้ประมาณ 3 ล้านราย ใช้งบประมาณอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท ซึ่งดูไม่ได้มากนัก แต่ล่าสุดพบว่ามีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 20 ล้านราย จึงไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วกระทรวงการคลังให้ช่วยเหลือประชาชนได้ทั้งหมดเท่าใด แต่จะมีผลเชิงบวกมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยหากรวมปัจจัยบวกทั้งการพักหนี้ของธนาคารพาณิชย์ และการเยียวยาได้มากกว่า 3 ล้านราย ก็เชื่อว่ายังไม่สามารถชดเชยการย่อตัวของจีดีพีได้มากนัก จึงเป็นที่มาของการที่รัฐบาลอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 ขนาดใหญ่กว่ามาตรการเฟส 1-2 รวมกันออกมา ซึ่งมาตรการ 1-2 มีมูลค่ารวม 4 แสนล้านบาท หากเทียบเท่า 4 แสนล้านบาท ก็คิดเป็นประมาณ 2-3% ของจีดีพี แต่หากใหญ่กว่าก็จะช่วยได้มากกว่าซึ่งต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าจะมีอะไรออกมาบ้าง ซึ่งหากมีออกมาจริงๆ ก็น่าจะช่วยเรื่องการย่อตัวลงของจีดีพีได้สูงมาก

“ประเมินในด้านการใช้จ่ายต่างประเทศ เห็นการใช้จ่ายที่หดตัวลงของภาครัฐ และการลงทุนที่น้อยลงภาคเอกชน รวมถึงรายได้ของครัวเรือนที่ชะลอตัวลงด้วย มีเพียงการบริโภคในภาคเอกชนที่ยังพอไปได้เท่านั้น ส่วนเศรษฐกิจจะมีสัญญาณถดถอยทางเทคนิคระหว่างปีหรือไม่ คงต้องรอดูความชัดเจนในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไป ซึ่งประมาณการเดิมที่ประเมินว่าจีดีพีไทย จะติดลบ 5.3% ยังไม่รวมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธปท.ไว้” นายดอนกล่าว

นายดอนกล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขยายวงกว้างและรุนแรงขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 2 ล้านคน ติดลบ 42.6% หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562 โดยหากประเมินตามเป็นรายต่างอาจจะเห็นว่านักท่องเที่ยวจีนติดลบมากที่สุดถึง 85% ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ลบ 73% มาเลเซีย ลบ 40% ซึ่งเป็นการติดลบจากเดือนมกราคม 2563 ที่เป็นบวก โดยมีต่างชาติที่เป็นบวกเพียงรัสเซียเท่านั้น ซึ่งสาเหตุคาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 น่าจะยังไม่รุนแรงมากนัก พลเมืองรัสเซียจึงยังมั่นใจที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยต่อ แต่ในเดือนมีนาคมนี้ คิดว่าแม้แต่รัสเซียก็น่าจะไม่สามารถบวกได้แล้ว เนื่องจากตัวเลขการผ่านด่านหลักเข้ามายังไทยของชาวต่างชาติ ในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา มีเพียง 600 คนเท่านั้น และยังปรับลดลงต่อเนื่อง โดยมองไปในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง สะท้อนได้จากอัตราการจองที่พักล่วงหน้าไม่มีเหลือแล้วในตอนนี้ และเริ่มเห็นหลายโรงแรมหรือที่พัก ที่เริ่มปิดกิจการลงแล้วทั้งชั่วคราวและถาวร

นายดอนกล่าวว่า ในส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าโตที่ 3.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยหากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกจะติดลบต่อเนื่องที่ง 1.3% เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศยังคงชะลอตัว โดยการระบาดของโควิด-19 และมาตรการปิดเมืองของจีน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนลดลงมาก ทั้งการบริโภคในประเทศ การผลิต และการขนส่งสินค้า ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนหดตัวสูง โดยประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปคือ การหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในจีน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการปิดประเทศของจีน ยังไม่ได้มีผลมากนัก เพราะผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่จะมีวัตถุดิบสต๊อกไว้แล้ว ซึ่งหากจีนกลับมาเปิดก็น่าจะไม่มีผลอะไรเพิ่มเติมมาก แต่หากเข้าประเทศมีการปิดประเทศมากขึ้น ซึ่งหากการผลิตในประเทศเหล่านั้นหยุดชะงักไป ก็จะกระทบกับการผลิตของไทยในอนาคตด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง