รีเซต

เริ่มแล้วถือศีลกินผักภูเก็ต ทำบุญ สักการะศาลเจ้า ถือศีลละเว้นเนื้อสัตว์

เริ่มแล้วถือศีลกินผักภูเก็ต ทำบุญ สักการะศาลเจ้า ถือศีลละเว้นเนื้อสัตว์
TNN ช่อง16
30 กันยายน 2567 ( 18:17 )
20
เริ่มแล้วถือศีลกินผักภูเก็ต ทำบุญ สักการะศาลเจ้า ถือศีลละเว้นเนื้อสัตว์

บรรยากาศการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่เทศกาลถือศีลกินผัก หรือ “เจี๊ยะฉ่าย”เมืองภูเก็ตที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีนักท่องเที่ยวและประชาชนในท้องถิ่นได้ออกมาทำบุญ สักการะศาลเจ้าในเมืองภูเก็ต โดยที่นี่มีงานเทศกาลถือศีลกินผักที่จัดขึ้นทุกปีอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งชาวภูเก็ต คนจีน และคนไทย ต่างก็มาเข้าร่วมในพิธีการถือศีลกินผัก และจะมีพิธีขึ้นเสาโกเต้งในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ถือเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่เทศกาลถือศีลกินผัก ไปตลอดจนจนถึงวันที่ 11 ต.ค.นี้

โดยหนึ่งในนั้นคือศาลเจ้าปุดจ้อเป็นอีกหนึ่งศาลเจ้าเก่าแก่แห่งเมืองภูเก็ตที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี โดยมีความแตกต่างจากศาลเจ้าแห่งอื่น ๆ ตรงที่ศาลเจ้าปุดจ้อ หรืออ๊ามปุดจ้อแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือองค์กวนอิมปุดจ้อ อายุกว่า 100 ปี นอกจากนี้ยังเป็นศาลเจ้าที่มีการรักษาโรคด้วยวิธีเซียมซีที่มีชื่อเสียงจนได้รับการบอกต่อจากปากต่อปาก นับเป็นเอกลักษณ์ที่หาชมได้ยากยิ่ง ข้างๆกันมีศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย เป็นอีกหนึ่งสถานที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน 


ถ้าใครจะมาเที่ยวหรือไหว้พระที่ศาลเจ้าปุดจ้อให้มาก่อนวันที่ 1 พ.ย. นี้ เนื่องจากทางศาลเจ้าเตรียมปิดบูรณะซ่อมแซม เนื่องจากตัวศาลเริ่มชำรุดและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

และในส่วนของการยกเสาโกเต้งจะมีขึ้นในวันที่ 2 ต.ค. เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้น เทศกาลถือศีลกินผัก การยก “เสาโกเต้ง” มีความหมายว่า ราวไม้ไผ่แขวนตะเกียง 9 ดวง โดยจะแขวนตะเกียงไว้ที่ปลายเสาเต็งโก ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ สถิตไว้ตลอดเทศกาลกินเจ พร้อมมีการอัญเชิญยกอ๋องซ่งเต และอัญเชิญเทพเจ้าทั้ง 9 องค์ หรือกิ่วอ๋องไต่เต่มาเป็นเทพประจำพิธี การยกเสาเต็งโก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลกินเจในภาคใต้

เสาโกเต้งนั้นจะใช้ต้นไผ่ที่ปลายยอดไม่หัก ความสูงไม่น้อยกว่า 36 ข้อปล้อง สื่อความหมายถึง 36 ชั้นฟ้า มีความเชื่อว่าจะเป็นทางสื่อที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนจะลงมายังโลกมนุษย์ ปลายยอดเสาจะประดับด้วยธงสีเหลืองผืนเล็ก ประกาศแด่ปีศาจ เปรต อสุรกายน้อยใหญ่ให้มารับส่วนบุญ 

และยังเป็นการประกาศแด่เทพเจ้าให้มารับทราบงานบุญที่ยิ่งใหญ่นี้ และยังมีธงอีกผืนที่ปลายส่วนย่อ ซึ่งเป็นธงขององค์กิ่วอ๋องไต่เต่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การที่มีการยกเสาเต็งโกนั้น เปรียบเสมือนเสากระโดงเรือ ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของผู้ที่เข้าร่วมประเพณีถือศีลกินเจ 

ซึ่ง “ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต” (PKUKET VEGETARIAN FESTIVAL) ยังได้รับรางวัลจากสมาคมเทศกาลและอีเวนท์นานาชาติ ประจำปี 2567 (2024 IFEA World Festival & Event City Award : 2024 IFEA / Haas & Wilkerson Pinnacle Awards Competiton)  ซึ่งผลการตัดสินได้รับรางวัล Grand Pinnacle Award ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดของทางสมาคม IFEA ที่ดูองค์ประกอบของการจัดงานโดยรวม ซึ่งประเทศไทยเองยังไม่เคยได้รับรางวัลดังกล่าวมาก่อน ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง  ซึ่งจะส่งผลดีกับหลายภาคส่วน ทำให้ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดผู้คนให้มาเยือน(เมื่อวันที่ 30 ก.ย.67)

ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์



ข่าวที่เกี่ยวข้อง