รีเซต

จุฬาฯ จ่อทดสอบ วัคซีนใบยาสูบ ก.ย.นี้ คาดป้องกันสายพันธุ์ใหม่โควิดได้

จุฬาฯ จ่อทดสอบ วัคซีนใบยาสูบ ก.ย.นี้ คาดป้องกันสายพันธุ์ใหม่โควิดได้
ข่าวสด
13 สิงหาคม 2564 ( 12:41 )
52
จุฬาฯ จ่อทดสอบ วัคซีนใบยาสูบ ก.ย.นี้ คาดป้องกันสายพันธุ์ใหม่โควิดได้

 

อนุทิน ตรวจโรงงานต้นแบบผลิต วัคซีนโควิด จากใบยาสูบ ของ "จุฬาฯ-ใบยา" หลังปรับปรุง 8 เดือนแล้วเสร็จ พร้อมผลิตจริงแล้ว เริ่มทดสอบในมนุษย์เฟส 1 ต้นก.ย.นี้

 

วันที่ 13 ส.ค.2564 ที่ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช เพื่อผลิตวัคซีนโควิด 19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ว่า วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ ก.พ.2563 ทดสอบในหนูทดลองและลิง พบว่าช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี

 

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า แต่เนื่องจากยังไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนด้วยพืชในประเทศ สธ.โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงสนับสนุนงบประมาณ 160 ล้านบาท ให้แก่จุฬาฯและบริษัทใบยาในการปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและชีววัตถุโดยใช้พืช ใช้เวลา 8 เดือน ปรับปรุงบนพื้นที่ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ขนาด 1,200 ตารางเมตร ผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

 

 

อนุทิน ตรวจโรงงานต้นแบบผลิต วัคซีนโควิด จากใบยาสูบ ของ "จุฬาฯ-ใบยา" หลังปรับปรุง 8 เดือนแล้วเสร็จ

"ขณะนี้โรงงานต้นแบบพร้อมรองรับการผลิตวัคซีนในขั้นต้น โดยเริ่มตั้งแต่เพาะเลี้ยงแบคทีเรียพาหะสารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ เพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน และเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีนสำหรับใช้ผลิตวัคซีน ก่อนนำส่งไปทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ ที่บริษัท คินเจ่น ไบโอเทค จำกัด จากนั้นผสมและแบ่งบรรจุวัคซีนที่สถานเสาวภาต่อไป" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า วัคซีนจุฬา-ใบยาจะเริ่มต้นทดสอบในมนุษย์ เฟสที่ 1 ช่วงต้น ก.ย.นี้ เบื้องต้นประมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าในไตรมาส 3 ของปี 2565 สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ฝีมือคนไทยในประเทศเองได้มาก 1-5 ล้านโดสต่อเดือน หรือราว 60 ล้านโดสต่อปี

"วันนี้ได้มาให้กำลังใจทีมไทยแลนด์ ซึ่งเป็นการวิจัยพัฒนาวัคซีนสัญชาติไทยโดยบริษัทของคนไทย ทั้งนี้ สธ.พร้อมสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จโดยเร็ว เพราะถือเป็นนวัตกรรม องค์ความรู้ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศ ที่สำคัญคือวัคซีนนี้สามารถปรับปรุงรองรับสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ทันที ขณะนี้กำลังดำเนินการใน 10 สายพันธุ์ หากสำเร็จ อนาคตอาจจะเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สามารถใส่หลายสายพันธุ์ลงไปในวัคซีนได้ ทำให้การป้องกันน่าจะสูงขึ้น" นายอนุทิน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง