รีเซต

3 มาตราที่ต้องรู้! ประกันสังคม มาตรา 33 39 40 ได้เยียวยาโควิดโครงการไหนบ้าง

3 มาตราที่ต้องรู้! ประกันสังคม มาตรา 33 39 40 ได้เยียวยาโควิดโครงการไหนบ้าง
TNN ช่อง16
20 มกราคม 2564 ( 09:36 )
582

" ประกันสังคม" เป็นการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งในเรื่องการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ และเสียชีวิต จากการทำงานหรือไม่ได้มาจากการทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน

ทั้งนี้ สำหรับกองทุนประกันสังคม มีผู้ประกันตนทั้งหมด 3 ประเภท ดังนั้น TNN ONLINE จะมาทำความรู้จักประกันสังคม 3 มาตราที่ประชาชนต้องรู้!

ประกันสังคม มาตรา 33

ผู้ประกันตนภาคบังคับในกลุ่มนี้ คือ "พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป" ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี โดยต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คิดเป็นสัดส่วนดังนี้ ลูกจ้าง 5%  + นายจ้าง 5% + รัฐบาล 2.75% ของฐานเงินค่าจ้าง ขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนภาคบังคับ มาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้ กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

สำหรับมาตรการเยียวยากรณีสถานการณ์โควิด มีดังนี้

- รับสิทธิ การลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ลูกจ้าง-นายจ้าง เหลือร้อยละ 3 ตั้งแต่ จาก ร้อยละ 5 ตลอด 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564

- ว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 200 วัน

- ว่างงานจากการลาออก ได้รับเงินชดเชย ร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน

- ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ได้รับเงินเยียวยา 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

- โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" จ่ายเงินเยียวยา 15,000 บาทให้กับผู้ประกันตน ประกันสังคมมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยผู้ประกันตนรับเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน (มีนาคม – พฤษภาคม 2563) รวม 15,000 บาท โดยจ่ายครั้งเดียว ซึ่งมีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยจะมีผู้ที่จะได้รับประมาณ 59,000 ราย

โครงการ "เราชนะ" เยียวยา 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ , ไม่เป็นผู้รับบำนาญ หรือเบี้ยหวัดจากราชการ, มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 300,000 บาท ในปีภาษี 2562, มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาทใน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62 รวมทั้ง ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 สามารถเข้าร่วมโครงการเราชนะได้อัตโนมัติ หากรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้


ประกันสังคม มาตรา 39

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจในกลุ่มนี้ "เคยเป็นพนักงานแต่ลาออก" หมายความว่า บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432  บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนภาคสมัครใจตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้ กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

สำหรับมาตรการเยียวยากรณีสถานการณ์โควิด มีดังนี้

- โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" เยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน 

- โครงการ "คนละครึ่ง" เป็นรูปแบบอาศัยวิธีการร่วมจ่าย (Co-pay) รัฐช่วย 50% ผู้ที่ได้รับสิทธิ์จ่าย 50% เพื่อนำไปใช้จ่ายสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป แต่ไม่รวมประเภทล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ โดยแต่ละวันสามารถใช้ได้ไม่ไม่เกิน 100 บาทต่อคน ทั้งนี้หากรวมหมดของโครงการจะได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน 

- โครงการ "เราชนะ" เยียวยา 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ , ไม่เป็นผู้รับบำนาญ หรือเบี้ยหวัดจากราชการ, มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 300,000 บาท ในปีภาษี 2562, มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาทใน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62


ประกันสังคม มาตรา 40

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจในกลุ่มนี้ "อาชีพอิสระ/แรงงานนอกระบบ" หมายถึง บุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 สำหรับผู้ที่จะสมัครประกันสังคมในมาตรา 40 ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี ผู้สมัครสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งมีให้เลือก 2 ชุด

ความคุ้มครอง 3 กรณี - จ่าย 100 บาท ต่อเดือน (จ่ายเอง 70 บาท รัฐบาลสมทบ 30 บาท) ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต

ความคุ้มครอง 4 กรณี - จ่าย 150 บาท ต่อเดือน (จ่ายเอง 100 บาท รัฐบาลสมทบ 50 บาท) ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีชราภาพ

สำหรับมาตรการเยียวยากรณีสถานการณ์โควิด มีดังนี้

- โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" เยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน

- โครงการ "คนละครึ่ง" เป็นรูปแบบอาศัยวิธีการร่วมจ่าย (Co-pay) รัฐช่วย 50% ผู้ที่ได้รับสิทธิ์จ่าย 50% เพื่อนำไปใช้จ่ายสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป แต่ไม่รวมประเภทล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ โดยแต่ละวันสามารถใช้ได้ไม่ไม่เกิน 100 บาทต่อคน ทั้งนี้หากรวมหมดของโครงการจะได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน 

- โครงการ "เราชนะ" เยียวยา 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ , ไม่เป็นผู้รับบำนาญ หรือเบี้ยหวัดจากราชการ, มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 300,000 บาท ในปีภาษี 2562, มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาทใน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง