สาเหตุกลิ่นปาก สัญญาณเตือนสุขภาพ น้ำยาบ้วนปาก สเปรย์ ลูกอมระงับกลิ่นแค่ชั่วคราว
วันนี้ (1 พ.ค.65) นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า "กลิ่นปาก" เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้หลายคน เสียความมั่นใจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง
โดยกลิ่นปากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในปาก ทำการย่อยสลายสารประกอบประเภทโปรตีนที่ตกค้างอยู่ในช่องปากและลำคอ เมื่อมีการย่อยสลาย เศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามส่วนต่างๆของช่องปาก จะส่งผลให้เกิดกลิ่นเหม็นขึ้นได้
นอกจากนี้ สาเหตุของกลิ่นปากยังพบได้จากปัญหาอื่นๆในช่องปาก เช่น ฟันผุเป็นรูลึก ภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย รวมถึงโรคทางระบบต่างๆ เช่นไซนัส ต่อมทอนซิล โรคปอด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคกระเพาะอาหารอักเสบ รวมถึงการสูบบุหรี่
การกินอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม เครื่องเทศ หัวหอม เป็นต้น ควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และหากพบปัญหาควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและแก้ไข
ด้าน ทันตแพทย์หญิงสุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหากลิ่นปาก สาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุด คือปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก จากการที่มีเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ตกค้างอยู่ตามซอกฟัน ลิ้น ร่องเหงือก และบริเวณฟันผุเป็นรูลึก
อีกทั้งการเป็นโรคปริทันต์อักเสบ มักมีคราบฟันและหินปูนสะสม ที่เกิดจากการทำความสะอาดช่องปากที่ไม่ทั่วถึง ทำให้กลิ่นปากรุนแรงยิ่งขึ้น และในภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย ก็ทำให้การชะล้างจุลินทรีย์และเศษอาหารได้น้อยลง เกิดการหมักหมมได้มากขึ้น การที่มีน้ำลายน้อยอาจมีสาเหตุมาจากสภาวะของร่างกายเอง ผลจากยาที่ทานประจำ หรือการดื่มน้ำไม่เพียงพอ
นอกเหนือจากสาเหตุภายในช่องปากแล้วกลิ่นปากอาจเกิดจากสาเหตุภายนอกช่องปากได้เช่นกัน เช่น จากระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการมีน้ำมูกไหลลงคอทางด้านหลังโพรงจมูก และการมีเศษอาหารติดอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิล
โรคเกี่ยวการย่อยอาหารและระบบขับถ่าย การรับประทานที่มีกลิ่น ซึ่งสามารถขับออกมาทางลมหายใจ เช่น กระเทียม ทุเรียน หัวหอม เครื่องเทศ ผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน
โดยการป้องกันและแก้ไขปัญหากลิ่นปากนั้น ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และทำการแก้ไข การใช้เพียงน้ำยาบ้วนปากหรือลูกอมเพื่อระงับกลิ่นปากนั้นทำได้เพียงชั่วคราว ควรดูแลทำความสะอาดช่องปากให้ทั่วถึง รวมทั้งร่องลึกบนลิ้นและโคนลิ้น
หากมีฟันปลอมก็ควรถอดล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร ดื่มน้ำให้เพียงพอไม่ปล่อยให้ปากแห้ง และพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ทำการรักษาฟันผุ และโรคเหงือกอักเสบ ขูดหินปูน รวมทั้งรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากอย่างถูกวิธี.
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP