รีเซต

กระทบไทยไหม? เปิดความเสี่ยงภูเขาไฟห่าง จ.ระนอง 700 กม.

กระทบไทยไหม? เปิดความเสี่ยงภูเขาไฟห่าง จ.ระนอง 700 กม.
TNN ช่อง16
31 มกราคม 2565 ( 19:25 )
401

วันนี้( 31 ม.ค.65) จากเหตุภูเขาไฟใต้น้ำที่ตองกาปะทุรุนแรงและเกิดคลื่นสึนามิตามมา ทำให้ได้รับความเสียหายและรับรู้แรงสั่นสะเทือนและสร้างความเสียหายไปไกลกว่า 1 หมื่นกิโลเมตร หนึ่งในนั้น คือ เปรู ที่ได้รับความเสียหายและท่อน้ำมันรั่วมีน้ำมันเกือบ 2 ล้านลิตรไหลลงสู่ทะเล 

ขณะที่ในส่วนของไทย แม้ว่าเหตุภูเขาไฟปะทุครั้งนั้นจะไม่ส่งผลต่อไทย แต่ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับภูเขาไฟใต้น้ำที่อยู่ห่างจากไทยเพียง 700 กิโลเมตรที่ฝั่งทะเลอันดามัน ที่หากเกิดการปะทุจะส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่ เป็นสิ่งที่มีการตั้งคำถาม เพราะว่าไม่สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดภูเขาไฟปะทุหรือแผ่นดินไหวได้เมื่อใด แต่สามารถที่จะคาดการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมหลังจากเกิดภูเขาไฟปะทุ หรือแผ่นดินไหวแล้วจะเกิดสึนามิหรือไม่ ซึ่งการเกิดคลื่นสึนามิ ส่วนมากมีสาเหตุมาจาก “แผ่นดินไหว” ใต้ทะเล รองลงมาก็คือ การระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล 

สำหรับภูเขาไฟที่ใกล้ประเทศไทย และที่ต้องจับตา คือ ภูเขาไฟที่เกาะบาแร ( Barren Island)  ใกล้ๆกับเกาะนิโคบาร์ ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากประเทศไทย 700 กิโลเมตร  ล่าสุดพบว่ายังมีการปลดปล่อยพลังงานออกมาแต่ไม่รุนแรงจนทำให้เกิดการกระเพื่อม หรือ ทำให้เกิดสึนามิได้ แต่ในแง่ภูมิศาสตร์ สภาพหมู่เกาะจะปิดกั้นและป้องกันไม่ให้กระทบถึงไทย และภูเขาไฟนี้เป็นภูเขาไฟลูกเล็กถ้ามีการระเบิดก็ไม่รุนแรง ดังนั้นประเทศไทยจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องผลกระทบแผ่นดินไหวและสึนามิจากการเกิดภูเขาไฟระเบิด 

โดยปกติก่อนภูเขาไฟจะปะทุขึ้นจะมีสัญญาณเกิดขึ้นก่อน เช่น เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ซึ่งในประเทศไทยไม่มีการเกิดภูเขาไฟระเบิด ส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดจึงมีเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว ทุ่นเตือนภัยสึนามิ และการซ้อมแผนฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ

ส่วนข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ภูเขาไฟใต้ทะเลห่างจาก จังหวัดระนอง 700 กิโลเมตร เป็นจุดเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและสึนามิ โดยมีแนวมุดตัวระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดียออสเตรเลียกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย 

ซึ่งบริเวณนี้มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นประจำและมีภูเขาไฟกระจายอยู่ตามแนวมุดตัวนี้อยู่แล้ว 

สาเหตุการเกิดสึนามิที่สามารถสร้างความเสียหายได้ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีการยกมวลน้ำเป็นบริเวณกว้างมาก กินพื้นที่หลายร้อยกิโลเมตร ซึ่งต่างจากการระเบิดของภูเขาไฟที่เป็นจุดเดียวและพื้นที่การยกตัวของมวลน้ำไม่มาก แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดสึนามิในบริเวณฝั่งอันดามัน กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแจ้งเตือนการเกิดสึนามิไปสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์    





ภาพจาก TNN ข่าวค่ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง