รีเซต

ราคาน้ำมันแพง! เปิดความจริง คนไทยจ่ายราคาน้ำมันแพงที่สุดในโลกจริง จริงหรือไม่?

ราคาน้ำมันแพง! เปิดความจริง คนไทยจ่ายราคาน้ำมันแพงที่สุดในโลกจริง จริงหรือไม่?
Ingonn
10 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:15 )
749
ราคาน้ำมันแพง! เปิดความจริง คนไทยจ่ายราคาน้ำมันแพงที่สุดในโลกจริง จริงหรือไม่?

น้ำมันแพง! เป็นสิ่งที่ทุกคนในประเทศไทยได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง เมื่อก่อนเติมน้ำมัน 300 บาท อยู่ได้ 1-2 วัน ทุกวันนี้เติมวันละ 300 บาท ก็ไม่พอ เพราะราคาน้ำมันสูง และไม่มีท่าทีจะลดลงสักที จนมีกระแสข่าวออกมาว่า คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก? แต่เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่

 

จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อความซึ่งระบุว่าคนไทยทั้งประเทศ ต้องแบกภาระจ่ายเงินซื้อน้ำมัน ที่พูดได้ว่าแพงที่สุดในโลกนั้น ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า การตั้งราคาน้ำมันของต่างประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศนั้นๆ เช่น การชดเชยของรัฐฯ ภาษี ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนการซื้อน้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงปัจจัยอื่นๆ

 

โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันระหว่างประเทศไทย และประเทศอื่นๆ พบว่าประเทศไทยไม่ได้ขายน้ำมันแพงที่สุดในโลกดังที่กล่าวไว้ ซึ่งราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิง ณ วันที่ 24 กันยายน ประเทศไทยขายอยู่ที่ 30.35 บาท/ลิตร กัมพูชา 36.99 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 63.67 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิง ณ วันที่ 24 กันยายน เช่นกัน ประเทศไทยขายอยู่ที่ 27.29 บาท/ลิตร กัมพูชา 30.00 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 51.78 บาท/ลิตร (อ้างอิง : http://www.eppo.go.th/.../energy.../interretailprice)

 

ทั้งนี้ปัจจัยในการกำหนดราคาน้ำมัน เกิดจากโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ดังนี้

 

ปัจจัยกำหนดราคาน้ำมัน

  1. ราคาหน้าโรงกลั่นหรือราคาเนื้อน้ำมัน คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้รวมภาษี กองทุน และค่าการตลาด

  2. ภาษีสรรพสามิต คือ ภาษีที่จัดเก็บสินค้าที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้ของสินค้าเหล่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดหารายได้ให้แก่ภาครัฐ ซึ่งเงินส่วนหนึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม

  3. ภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล) คือ ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรา 4 ของ พรบ.จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย มีอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท

  4. เงินที่เรียกเก็บเข้า/อุดหนุน จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 วัตถุประสงค์หลักคือการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ

  5. เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในมาตรา 25 โดยมีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ รวมทั้งกำหนดอัตราการส่งเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามความในมาตรา 4

  6. ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจำหน่ายสินค้าหรือบริการชนิดต่างๆ โดยปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจการขายสินค้า การให้บริการทุกชนิด และการนำเข้า อยู่ที่อัตราร้อยละ 7

  7. ค่าการตลาด คือ ผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะได้รับจากการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงผลตอบแทนของการลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง การก่อสร้างสถานีบริการ การส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจทุกอย่าง รวมถึงค่าใช้จ่ายบุคลากร ดังนั้น ค่าการตลาดจึงมิใช่กำไรของผู้ประกอบการ แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจซึ่งรวมถึงกำไรด้วย

  8. ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด คิดเป็น 7% ของค่าการตลาด (อ้างอิง : http://www.eppo.go.th/.../th/eppo-intranet/item/11451-faq3)

 

เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.pttplc.com/th/Home.aspx หรือโทร. 1365

 

นายกฯ เผย รัฐบาลพยายามตรึงราคาน้ำมันให้มากที่สุด

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ตอบคำถามถึงกรณีปัญหาราคาน้ำมันและจะมีการทบทวนปรับโครงสร้างภาษีน้ำมันหรือไม่ ว่า ได้มีการหารือแล้ว ขอให้รอการชี้แจงให้ทราบในรายละเอียดอีกครั้ง เห็นได้ว่ารัฐบาลมีแผนเรื่องกองทุนน้ำมัน การเตรียมวงเงินกู้ไว้สำหรับที่จะชดเชย โดยกองทุนน้ำมันก็ติดลบอยู่ในขณะนี้ 


รัฐบาลเตรียมรองรับปัญหาเรื่องของแก๊สในหลายมิติด้วยกัน สาเหตุไม่ได้มาจากเราแต่มาจากต้นทุนพลังงาน ที่เราพึ่งพาวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้น ต้องไปเปรียบเทียบดูจากประเทศรอบบ้าน และในภูมิภาคว่าเป็นอย่างไร ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มไหน หลายประเทศอาจจะถูกกว่าไทย เพราะเขามีแหล่งพลังงานในประเทศ เรื่องนี้ขอให้รออีกนิดหนึ่ง เพราะการดูแลไม่ใช่ดูแลคนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับคนที่มีรายได้ไม่มากอยู่แล้ว ทุกคนต้องช่วยกัน เรื่องสถานการณ์พลังงานยังติดพันอีกมากและไม่ใช่ระยะเวลาสั้น รัฐบาลต้องหาวิธีการที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่ามีการควบคุมราคาไม่ให้เกิน 30 บาท อีกทั้งจะมีการพิจารณาเรื่องภาษีต่าง ๆ เช่น ภาษีสรรพสามิต ด้วย

 

ข้อมูล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน , กรมประชาสัมพันธ์

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง