แรงงาน จี้รัฐบาล เยียวยา 'โควิด' 5 พัน แบบไม่ต้องมานั่ง ลงทะเบียน
'เครือข่ายแรงงาน' จี้ 'รัฐบาล' จ่ายเงินเยียวยาแรงงานถ้วนหน้า 5 พัน บาท ต่อเนื่อง 3 เดือน-ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้โรคระบาดไม่ได้มาจากม็อบ
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและองค์กรภาคี นำโดยนายเซี๊ย จำปาทอง ตัวแทนเครือข่ายและผู้ได้รับผลกระทบด้านแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 เข้าร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี
โดยทำกิจกรรมปราศรัยพร้อมถือป้ายข้อความ "เงินเยียวยาแรงงานต้องได้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เงินภาษีจากประชาชนทำไมต้องลงทะเบียน"
นายเซี๊ย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของ โควิด 19 ระลอกที่สองส่งผลต่อการจ้างงานและชีวิตของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการออกมาตรการต่างๆ ที่กระทบต่อผู้ประกอบการแรงงานไทยและข้ามชาติ และสถานประกอบการหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการ โดยไม่มีงบประมาณชดเชยจากรัฐ
ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะออกมาตรการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบจำนวนเงิน 3,500 บาท ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต อีกทั้งยังมีขั้นตอนการลงทะเบียนที่ยุ่งยาก ทางเครือข่ายจึงขอเสนอให้รัฐบาล จ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน แก่แรงงานทุกประเภทอย่างถ้วนหน้า ทั้งแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ
โดยทางเครือข่ายฯ มีความกังวลจากการใช้มาตรการควบคุมโรค ที่สะท้อนวิธีการบริหารประเทศแบบสั่งการอนุมัติจากบนลงล่างไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาโรคระบาด นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเปิดโอกาสชุมนุม เพราะที่ผ่านมาไม่เกิดการแพร่เชื้อจากการชุมนุม แต่มาจากการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย
รัฐจำเป็นต้องตระหนักว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องกระจายความมั่งคั่งในสังคมจากคนร่ำรวยที่สุด 1% ในประเทศไปให้กับผู้คน 99% ที่ทำงานหนักเพื่อสร้างประเทศและความมั่งคั่งให้คน 1% มาตลอด เพื่อปากท้องของทุกคนในสังคมและเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานของพวกเรา