รีเซต

กองทัพตั๊กแตนทำลายพืชผล ในหลายภูมิภาคของโลก ทำไมกระทรวงเกษตรฯ ของไทยยังไม่กังวล

กองทัพตั๊กแตนทำลายพืชผล ในหลายภูมิภาคของโลก ทำไมกระทรวงเกษตรฯ ของไทยยังไม่กังวล
ข่าวสด
30 มิถุนายน 2563 ( 22:24 )
175

 

กองทัพตั๊กแตนทำลายพืชผล ในหลายภูมิภาคของโลก ทำไมกระทรวงเกษตรฯ ของไทยยังไม่กังวล - BBCไทย

การระบาดของตั๊กแตนฝูงใหญ่แอฟริกาตั้งแต่ต้นปีนี้ จนลามมาถึงเอเชียตอนใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และล่าสุดในลาว อาจทำให้หลายคนกังวลใจว่าแล้วประเทศไทยมีความเสี่ยงเรื่องนี้แค่ไหน

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายกับบีบีซีไทยว่า จริง ๆ แล้ว การระบาดทั้งสองพื้นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และ "มีโอกาสน้อย" ที่ฝูงตั๊กแตนจะอพยพข้ามพรมแดนเข้าในประเทศไทยในลักษณะของของฝูงขนาดใหญ่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง

"คนละสีกันเลยที่ระบาดทางแอฟริกา ตัวสีเหลือง ส่วนใน สปป.ลาว ตัวสีเขียวและชอบอากาศหนาว" ศรุต สุทธิอารมณ์ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวกับบีบีซีไทย

ฝูงตั๊กแตนที่ระบาดอยู่ที่อินเดียและเริ่มเข้าไปในเนปาลและตอนใต้ของจีนในขณะนี้ เป็น "ตั๊กแตนทะเลทราย" ที่อพยพเป็นกลุ่มใหญ่ระยะทางไกลและเป็นการระบาดต่อเนื่องมาจากทวีปแอฟริกา ก่อนระบาดเข้ามาทางประเทศแถบตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งกองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าการระบาดครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี

ส่วนฝูงตั๊กแตนที่ระบาดในพื้นที่ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อโซเชียล ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช บอกว่าจากการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ลาวช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ แต่จากประวัติการระบาดในลาวที่ผ่านมา เป็นตั๊กแตนอีกชนิดหนึ่ง คือ ตั๊กแตนไผ่ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดในอินเดียและแอฟริกา พบการระบาดเช่นนี้มาเป็นระยะเวลา 3-4 ปีแล้ว ทางกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเจ้าหน้าที่วิจัยเข้าไปติดตามใน สปป.ลาวเช่นกัน และพบว่าในช่วงที่ผ่านมาพบการระบาดที่วนเวียนในพื้นที่เดิมของลาวตอนเหนือ ซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาและป่าไผ่ บางส่วนเข้าไปทางตอนเหนือของเวียดนาม

สถานการณ์ระบาดในแอฟริกาตะวันออกกลางและเอเชียใต้

ตั๊กแตนทะเลทราย เป็นตั๊กแตนที่อพยพเป็นกลุ่มใหญ่ระยะทางไกล เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว กินพืชได้หลายชนิด รวมทั้งพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาเล่ย์ อ้อย ไม้ผล พืชผัก ซึ่งกินได้ทุกส่วนของพืช หากมีการระบาดจะเกิดความเสียหายรุนแรง รวดเร็วและเป็นบริเวณกว้าง

ตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงขณะนี้พบการระบาดของฝูงตั๊กแตนในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ 13 ประเทศ ได้แก่ เคนยา เอธิโอเปีย เอริเทรีย โซมาเลีย ซูดานใต้ อูกันดา จิบูตี เยเมน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อินเดีย และปากีสถาน

การระบาดในขณะนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์

Getty Images
เมืองชัยปุระ อินเดีย เดือน พ.ค.

"ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ฝนในทะเลทรายที่ไม่ค่อยจะมีดันมีต่อเนื่อง พอฝนตกหญ้าขึ้น มีอาหาร ก็จะมีการฟักไข่และโต เป็นรุ่น ๆ" ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช อธิบาย

เมื่อต้นสัปดาห์ เมืองกูรูกรัม (Gurugram) ในเขตกรุงนิวเดลี ได้เกิดปรากฏการณ์ตั๊กแตนจำนวนมากรุกรานพื้นที่ในเมือง ทางการต้องขอให้ประชาชนปิดหน้าต่างบ้านเรือนและตีเครื่องใช้ภาชนะเพื่อลดการขยายพันธุ์ของตั๊กแตนชนิดนี้

กองทัพตั๊กแตนที่บุกเมืองยังทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติเลีซึ่งติดกับเมืองกูรูกรัม ประกาศเตือนให้นักบินใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการนำเครื่องบินขึ้นลง เนื่องจากการรบกวนของฝูงตั๊กแตนจำนวนมาก

การระบาดของฝูงตั๊กแตนทะเลทรายในอินเดียระลอกนี้ นับเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบทศวรรษ ทางการต้องระดมผู้เชี่ยวชาญ ยานพาหนะ และรถดับเพลิง ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในพื้นที่อย่างน้อย 7 รัฐทางตอนเหนือ ตอนกลาง และตะวันตกของประเทศ

อพยพข้ามทวีปได้อย่างไร

ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวถึงลักษณะการระบาดในโซนแอฟริกาว่า มีบางปีที่ไม่เกิดการระบาด ธรรมชาติของช่วงนั้น ตั๊กแตนจะไม่มีรวมกลุ่มเป็นฝูง แต่หากปีไหนที่มีสภาพที่เหมาะสมก็จะเกิดการรวมกลุ่ม การรวมกลุ่มทำให้ตั๊กแตนมีความสามารถในการส่งสัญญาณต่อกันให้เปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนสีเพื่ออพยพ รวมทั้งกระตุ้นตัวเองให้ขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก

"จากบินไม่เก่งก็บินได้ไกล ปรับพฤติกรรมให้พร้อม โดยการเปลี่ยนจากอยู่แบบเดี่ยว ๆ เป็นฝูง"

https://www.facebook.com/BBCnewsThai/videos/182385216300230/?v=182385216300230

ตั๊กแตนทะเลทรายบินตามกระแสลมด้วยความเร็วประมาณ 16-19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้สูงถึง 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลซึ่งเป็นชั้นเมฆฝน และบินได้นาน 10 ชั่วโมงต่อครั้ง (เฉลี่ย 2 ชั่วโมง) และสามารถเดินทางได้ประมาณ 5-130 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้นในหนึ่งวัน

ไทยมีโอกาสแค่ไหนที่จะระบาด

สำหรับตั๊กแตนทะเลทราย ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช บอกว่าจากการติดตามยืนยันว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดการระบาดขนาดใหญ่ในไทย เนื่องจากตั๊กแตนชนิดนี้อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมแบบทะเลทราย แต่ไทยมีลักษณะความชื้นสูง ดังนั้น จึงไม่ใช่สภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับตั๊กแตนทะเลทรายในการขยายพันธุ์และตั้งรกราก เพราะตั๊กแตนชนิดนี้ชอบสภาพอากาศแห้งแล้งเหมือนทะเลทราย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากทิศทางลมที่ได้มาทางไทยอีกด้วย

ส่วนตั๊กแตนไผ่ในลาว ก็ "มีโอกาสน้อย" เช่นกัน เพราะการอพยพของตั๊กแตนไผ่ ไม่ได้อพยพเป็นฝูงใหญ่เหมือนตั๊กแตนทะเลทรายที่อพยพทีละเป็นล้าน ๆ ตัว

นอกจากนี้จากการติดตามการระบาดในระยะที่ผ่านมา ยังพบว่าเป็นการระบาดเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของ สปป.ลาว มีทางเวียดนามตอนเหนือบ้าง แต่ยังไม่พบว่ามีการขยายพื้นที่ลงมา อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตร ได้ติดตามและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ลาวเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังปรากฏการณ์ดังกล่าว

"ใช้วิธีกำจัดได้ทั้งสารเคมีและธรรมชาติ ตาข่ายจับก็ได้ถ้าปริมาณน้อย ถ้ามาไม่เยอะก็จับกินได้ แต่คาดว่าถ้ามาถึงไม่น่าจะมีการขยายพันธุ์"

สำหรับการระบาดครั้งแรกของตั๊กแตนไผ่ ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ระบุไว้ว่า พบครั้งแรกเมื่อปี 2472 ที่ประเทศจีน เกิดการระบาดรุนแรงในมณฑลเสฉวน หูเป่ย์ เกียงสู หูหนาน เกียงสี ฝูเจียน และกวางตุ้ง

Getty Images

ส่วนในไทยพบครั้งแรกเมื่อปี 2512 ที่เชียงใหม่ และสุพรรณบุรี แต่ไม่มีรายงานการระบาด

ในลาวพบการระบาดเมื่อปี 2557 ที่แขวง (จังหวัด) หัวพัน เขตติดต่อกับเวียดนาม ปีถัดมา พบการระบาดเพิ่มในแขวงพงสาลี เขตติดต่อกับจีน โดย สปป.ลาว ได้ขอความช่วยเหลือจาก FAO ให้เข้ามาช่วยควบคุมการระบาดแต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าและภูเขาสูงชัน

สำหรับการระบาดของตั๊กแตนในไทยในอดีต ศรุต ให้ข้อมูลว่าเคยมีการระบาดของตั๊กแตนปาทังก้า แต่ปัจจุบันไม่มีการระบาดและยุติภารกิจของหน่วยงานติดตามตั๊กแตนโดยเฉพาะมาเป็นสิบปีแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง