หัวเว่ย : อังกฤษสั่งห้ามซื้อ ถอดอุปกรณ์ 5G ทั้งหมดของหัวเว่ยจากประเทศภายในปี 2027

รัฐบาลสหราชอาณาจักรสั่งห้ามบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศซื้ออุปกรณ์เครือข่ายระบบสื่อสารแบบไร้สายในยุคที่ 5 (5G) จากหัวเว่ย บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมสัญชาติจีน ตั้งแต่ 1 ม.ค. ปีหน้า
รัฐบาลยังสั่งให้บริษัทเหล่านี้ถอดอุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยที่ติดตั้งไปแล้วทั้งหมดออกจากเครือข่ายภายในปี 2027
นายโอลิเวอร์ ดาวเดน รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และกีฬา ของสหราชอาณาจักรได้แจ้งการตัดสินใจดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 14 ก.ค. พร้อมระบุว่า นี่จะทำให้การเริ่มใช้ระบบการสื่อสาร 5G ของประเทศต้องล่าช้าออกไปอีก 1 ปี
- สหรัฐฯ ขออังกฤษคิดอีกรอบให้หัวเว่ยวางเครือข่าย 5G
- รมว. ต่างประเทศสหรัฐฯ เผย แอปฯ ติ๊กต็อก ของจีนอาจถูกห้ามใช้
- หัวเว่ย: ทำไมโลกตะวันตกจึงไม่ไว้ใจเครือข่ายโทรคมนาคมจีน
- หัวเว่ย : ลูกสาวผู้ก่อตั้ง หัวเว่ย ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงจากการลอบทำธุรกิจกับอิหร่าน
นายดาวเดน ระบุว่า ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้บวกกับการประกาศใช้ข้อจำกัดต่าง ๆ ในการที่หัวเว่ยจะเข้าไปร่วมวางเครือข่าย 5G เมื่อช่วงต้นปีนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายมูลค่ารวมถึง 2 พันล้านปอนด์ (ราว 8 หมื่นล้านบาท)
นายดาวเดน กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายดาย แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเครือข่ายโทรคมนาคมของสหราชอาณาจักร สำหรับความมั่นคงของชาติ และเศรษฐกิจของเราในปัจจุบันและในระยะยาว"
ตามรอยสหรัฐฯ
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลอังกฤษมีขึ้นหลังจาก เมื่อเดือน พ.ค.รัฐบาลสหรัฐฯ ออกระเบียบสกัดไม่ให้บริษัททั่วโลกใช้เครื่องจักรหรือซอฟแวร์ที่ผลิตในสหรัฐฯเพื่อออกแบบหรือผลิตชิปให้หัวเว่ยหรือบริษัทในเครือ คำสั่งนี้มีผลบังคับในเดือน ก.ย. นี้
คำสั่งของสหรัฐฯส่งผลให้ศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติของสหราชอาณาจักรเปิดการตรวจสอบและทบทวนการใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยจากเหตุผลด้านความเสี่ยงของเทคโนโลยีของหัวเว่ยที่ได้รับผลกระทบในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้เฉพาะอุปกรณ์ในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงไม่เชื่อว่าจะมีเหตุผลอันสมควรในการสั่งถอดอุปกรณ์ 2G, 3G และ 4G ของหัวเว่ยที่ใช้งานมาก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน การตัดสินใจครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในสหราชอาณาจักร แต่จะมีผลต่อการใช้อุปกรณ์บรอดแบนด์ของบริษัท
หัวเว่ยว่าอย่างไร
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามกดดันและเรียกร้องให้สหราชอาณาทบทวนการตัดสินใจเรื่องการให้หัวเว่ย ร่วมเป็นคู่ค้าด้านเครือข่ายสัญญาณ 5G ของประเทศ โดยสหรัฐฯ อ้างว่า จีนอาจใช้หัวเว่ยในการ "สอดแนม หรือ โจมตี" สหราชอาณาจักร
แต่หัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และผู้ก่อตั้งบริษัทได้กล่าวว่าเขาเลือกที่จะปิดบริษัทลงเสียดีกว่าจะสร้างความเสียหายให้แก่ลูกค้าของบริษัท
สำหรับการตัดสินในครั้งล่าสุดของรัฐบาลสหราชอาณาจักรนั้น หัวเว่ย ระบุว่า "เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทุกคนในสหราชอาณาจักร" และสุ่มเสี่ยงที่จะ "ขยับอังกฤษไปอยู่ในช่องทางดิจิทัลที่เชื่องช้า มีค่าบริการที่สูงขึ้น และเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลให้มากขึ้น"
หลายฝ่ายมองว่า การตัดสินใจของสหราชอาณาจักรครั้งนี้น่าจะมีปัจจัยทางด้านการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การที่สหราชอาณาจักรต้องการบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ภายหลังการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป รวมทั้งความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับจีน ทั้งจากกรณีที่จีนจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งการปฏิบัติต่อฮ่องกง
ยอดนิยมในตอนนี้
