รีเซต

'ยาต้านโควิด...สามัญประจำบ้าน' เจาะศักยภาพ 3 เม็ดยา ที่ใกล้วางตลาดปีนี้

'ยาต้านโควิด...สามัญประจำบ้าน' เจาะศักยภาพ 3 เม็ดยา ที่ใกล้วางตลาดปีนี้
TNN ช่อง16
28 กันยายน 2564 ( 13:43 )
112
'ยาต้านโควิด...สามัญประจำบ้าน' เจาะศักยภาพ 3 เม็ดยา ที่ใกล้วางตลาดปีนี้

มิรันดา เคลลี ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดในเดือนมิถุนายน เธออายุ 44 ปีแล้ว และเป็นโรคเบาหวาน รวมถึงความดันสูง


เคลลี เป็นผู้ช่วยพยาบาลที่ได้รับการรับรอง แต่ช่วงนั้น เธอต้องดูแลรักษาตัวเอง แต่อาการก็หนักจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน


สามีของเธอ โจ เคลลี อายุ 46 ปี ก็ติดไวรัส ห้วงเวลานั้นลำบากมาก พวกเขาคิดแต่ว่าลูกวัยรุ่น 5 คนที่บ้านจะเป็นอย่างไรต่อไป


“เราขอพระเจ้าอย่าให้เราต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเลย เรามีลูก ใครจะเลี้ยงพวกเขา” มิรันดา เคลลี กล่าว


แต่ครอบครัวเคลลีมีความหวัง เพราะพวกเขาตกลงเข้าร่วมการทดลองทางคลินิก เพื่อทดสอบการรักษาโควิดที่ยับยั้งอาการของโรคไม่ให้รุนแรงได้


วันต่อมา โจและมิรันดา ทานยาเม็ด สองครั้งต่อวัน พวกเขาไม่รู้เลยว่ายาที่ทานไปนั้นเป็นยาจริงหรือยาหลอก แต่ผ่านไปสัปดาห์เดียว อาการของพวกเขาดีขึ้น และในสองสัปดาห์ พวกเขาก็หายป่วย


“ฉันไม่รู้ว่าเราได้รับการรักษาหรือเปล่า แต่มันรู้สึกเหมือนเราได้ยากดี” มิรันดา เล่า “ทั้งที่ฉันมีอาการป่วยอื่น ๆ อยู่แล้ว แต่ก็หายโควิดเร็วมาก”


ความหวังกำราบโควิด


สิ่งที่ครอบครัวเคลลีร่วมทดลองนั้น คือ ยาเม็ดสำหรับทานระยะสั้น เพื่อต่อสู้กับไวรัสโควิดในช่วงเริ่มต้นอาการ หรือหลังตรวจพบว่าติดเชื้อ


“ยาต้านไวรัส ไม่เพียงจำกัดระยะเวลาแสดงอาการ แต่ยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังคนอื่นในบ้าน ถ้าคุณป่วย” ทิโมธี เชียฮาน นักไวรัสวิทยา มหาวิทยานอร์ธแคโรไลนา-ชาเปลฮิล ซึ่งช่วยคิดค้นการรักษานี้ บอกกับ CNN


ปัจจุบัน มียาต้านไวรัสอย่างน้อย 3 ตัว ที่กำลังอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิก และจะเผยผลลัพธ์ในอีกไม่กี่เดือนนี้ ประกอบด้วย


ยาต้านไวรัสของบริษัท Merck & Co. ที่ร่วมกับบริษัท Ridgeback Biotherapeutics พัฒนาตัวยาชื่อ ‘โมลนูพิราเวียร์’ (molnupiravir)


ยาต้านไวรัสของบริษัท Pfizer ชื่อ ‘PF-07321332’ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองขั้น ‘กลาง-ปลาย’ กับผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ร่างกายแข็งแรง 2,260 คน ที่อาศัยร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยจะให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทานยาตัวนี้ ร่วมกับ ‘ยาริโตนาเวียร์’ (Ritonavir) ในปริมาณต่ำ ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการผสมสูตรกับยาตัวอื่นใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี


ยาต้านไวรัสอีกตัว คือ AT-527 ที่พัฒนาโดยบริษัท Roche และ Atea Pharmaceuticals


‘โมลนูพิราเวียร์’ อาจใช้ได้ก่อนสิ้นปี


ตัวยาจะทำหน้าที่ขัดขวางไวรัสไม่ให้ขยายตัวในเซลล์มนุษย์ ยกตัวอย่างยา ‘โมลนูพิราเวียร์’ จะทำให้เอ็นไซม์ที่คัดลองสารพันธุกรรมไวรัส ทำงานผิดพลาดจนไม่สามารถคัดลอกตัวมันเองได้


ช่วยให้ผู้ป่วยมีปริมาณไวรัสน้อยลง อาการไม่รุนแรงขึ้น ลดเวลาการป่วยโควิด และป้องกันการป่วยวิกฤตและเสียชีวิต


จนถึงตอนนี้ มียาต้านไวรัสตัวเดียวที่ได้รับอนุมัติใช้ในการรักษาโควิด คือ ‘เรมเดซิเวียร์’ (remdesivir) แต่จะใช้ก็ต่อเมื่อคนไข้ป่วยหนักเท่านั้น จะไม่ใช้ในช่วงที่พึ่งตรวจพบว่าเป็นโควิด และช่วงอาการแรกเริ่ม


แต่ยาเม็ดต้านโควิดที่กำลังทดลองนี้ สามารถทานได้ทันทีหลังพบว่าติดเชื้อ และแม้จะยังไม่แสดงอาการก็ตาม


เชียฮาน เปิดเผยผลการทดลองยา ‘โมลนูพิราเวียร์’ ในหนู พบว่า ช่วยยับยั้งอาการของโรคโควิดได้ จากนั้น จึงนำไปทดลองในผู้ร่วมทดลอง 202 คน ซึ่งก็พบว่า ลดระดับการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว


ผู้บริหาร Merck จึงประกาศว่า อาจเริ่มต้นการทดลองในระยะที่สามได้ ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ ก่อนที่จะขออนุมัติใช้ฉุกเฉินกับองค์การอาหารและยา ก่อนสิ้นปี


แล้วยาเม็ดของ Pfizer ล่ะ


ส่วนยาเม็ดต้านโควิดของ Pfizer กำลังทดลองควบทั้งเฟส 2 และเฟส 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะได้ผลลัพธ์ภายในอีกไม่นานนี้


หากผลลัพธ์เป็นไปอย่างน่าพอใจ และได้รับการอนุมัติใช้ฉุกเฉิน Pfizer ก็พร้อมจะแจกจ่ายยาออกไปอย่างรวดเร็ว


นั่นหมายความว่า ชาวอเมริกันหลายล้านคน จะเข้าถึงยาต้านโควิดเพื่อใช้เป็นยาสามัญประจำบ้าน สำหรับทานหลังตรวจพบว่าติดโควิด 5-10 วัน


บริษัท Merck ประเมินว่า จะสามารถผลิตยาต้านโควิดได้มากกว่า 10 ล้านคอร์สการรักษา ภายในปลายปีนี้ ขณะที่ Atea กับ Pfizer ยังไม่ประกาศผลคาดการณ์การผลิตในตอนนี้


การแข่งขันยาต้านโควิด


เดิมทียาต้านโควิด ได้รับความสำคัญรองลงมาจากไวรัส แต่เวลานี้ กลับกลายเป็นเวทีแข่งขันและทุ่มงบพัฒนา เพราะมองว่าเป็นอนาคตของการอยู่ร่วมกับโควิด


เมื่อเดือนมิถุนายน รัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศว่าได้ตกลงสั่งซื้อยาต้านโควิดของ Merck 1.7 ล้านชุด รวมราคากว่า 1 พัน 200 ล้านบาท ถ้าหากตัวยาได้รับการอนุมัติใช้ฉุกเฉิน


เดือนเดียวกัน รัฐบาลก็ทุ่มงบ 3,200 ล้านบาทไปกับโครงการพัฒนายาต้านไวรัส สำหรับโควิด-19 และไวรัสตัวอื่น ๆ


อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า ยารักษาโควิด ไม่ใช่อาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับโควิด เท่ากับการไปฉีดวัคซีน แต่เป็นตัวเลือกเพื่อแก้ปัญหา หากติดโควิด



ข่าวที่เกี่ยวข้อง