รอดหวุดหวิด! หมาอ้วนสู้ยิบตา ฟัดกลับจระเข้ 2 เมตร หลังถูกงับกลางตัว
รอดหวุดหวิด! น้องหมาอ้วนสู้ยิบตา กระโจนฟัดกลับจระเข้ 2 เมตร หลังถูกงับกลางตัวเหนือสะโพก เจ้าของคาด-คิดว่าเป็นสุนัขอีกตัว
เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ชายหาดคาซัวรินา เขตนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี เมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย โดยสุนัขตัวหนึ่งเกือบถูกจระเข้น้ำเค็มขนาด 6.5 ฟุตขย้ำ ขณะเดินบนชายหาด
เอบีซีนิวส์รายงาน เมื่อเวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น แบนโจ สุนัขพันธุ์สแตฟเฟอร์ดไชร์ บูล เทอร์เรียร์ (Staffordshire Bull Terrier) อายุ 5 ขวบ วิ่งลงไปในน้ำ ทว่าจระเข้ตัวเบิ้มงับมันที่กลางหลังไว้ด้วยขากรรไกร
ทอม คัมมินส์ วัย 78 ปี เจ้าของแบนโจกล่าวว่า “น้ำลึกถึงเข่า เขาเพิ่งวิ่งลงไปในน้ำเพื่อคลายร้อน ต่อมาผมได้ยินเสียงคำราม ก่อนจะมองไปรอบ ๆ และพบว่าแบนโจอยู่ในปากของจระเข้"
"โชคดีที่แบนโจเป็นสุนัขที่แข็งแรงมาก ผมสันนิษฐานว่าแบนโจน่าจะกระโดดตรงไปที่จระเข้ เพราะคิดว่าเป็นสุนัขอีกตัว จากนั้นแบนโจจึงฟัดจระเข้กลับ ถ้าน้ำลึกกว่านั้นก็คงจบแบบอื่น"
"จระเข้ถอยห่างจากขอบน้ำประมาณ 30 ฟุต ขณะที่ผมนำแบนโจออกมาและพาไปหาสัตวแพทย์ เพื่อรักษารอยกัดที่หลังของเขา 3 รอย แต่สัตวแพทย์กล่าวว่าบาดแผลไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ตอนนี้เขากำลังพักฟื้น เจ็บมาก และไม่สามารถนอนได้"
Northern Territory Parks and Wildlife โพสต์เกี่ยวกับการเผชิญหน้าบนหน้าเฟซบุ๊ก โดยเรียกการเผชิญหน้าว่าเป็น "หางแห่งการเอาชีวิตรอด"
โพสต์ระบุ “เจ้าสุนัขแบนโจต่อสู้กับจระเข้น้ำเค็มขนาดประมาณ 2 เมตรที่หาดคาซัวรินาใกล้กับหน้าผาดริปสโตนเมื่อเช้านี้ เขาหนีรอดมาได้โดยมีบาดแผลลึก ซึ่งแบนโจคือตัวอย่างของการเห็นคุณค่าว่าทำไมเราต้องเรียนรู้วิธีการระมัดระวังตัว (Crocwise) เพื่อลดความเสี่ยงของการโจมตีของจระเข้ตลอดแหล่งน้ำ"
เจ้าหน้าที่สัตว์ป่าได้วางกับดักในพื้นที่ ซึ่งจนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังหาจระเข้ดังกล่าวไม่พบ คาดว่ามีจระเข้น้ำเค็มมากกว่า 100,000 ตัวในดินแดนทางเหนือ ซึ่งเป็นจระเข้สายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถเติบโตได้ยาวกว่า 20 ฟุต
พื้นที่ชุ่มน้ำและแม่น้ำริมชายฝั่งของนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเป็นที่อยู่อาศัยในอุดมคติของสายพันธุ์นี้ รัฐบาลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีแนะนำให้ประชาชนว่ายน้ำเฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น
เอียน ฮันท์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี บอกกับสถานีวิทยุเอบีซีดาร์วินว่า "จระเข้น้ำเค็มมีอันตรายเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ของปี ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น เราพบว่าจระเข้เคลื่อนที่ไปรอบ ๆ มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นฤดูผสมพันธุ์ของจระเข้น้ำเค็มอีกด้วย"