ใหญ่สุดในโลก ! "ลิเวอร์พูล" เสนอเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำขึ้นน้ำลง สร้างพลังงานให้บ้านล้านหลัง นาน 120 ปี
เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เปิดตัว เมอร์ซี ไทดัล พาวเวอร์ (Mersey Tidal Power) หรือโปรเจกต์สร้างเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำขึ้นน้ำลงบริเวณแม่น้ำเมอร์ซี และหากได้รับการอนุมัติให้สร้างจนแล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำขึ้นน้ำลงที่สร้างพลังงานได้มากที่สุดในโลก และบริเวณดังกล่าวก็จะกลายเป็นช่วงน้ำขึ้นน้ำลงที่สูงที่สุดในโลกที่มีการติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าอีกด้วย
เครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้านี้จะมีลักษณะคล้ายกับเขื่อนกั้นแม่น้ำเมอร์ซีที่ไหลผ่านเมืองลิเวอร์พูลและคาบสมุทรวีร์รัล ซึ่งยังไม่ได้ระบุตำแหน่งในการสร้างที่แน่นอน แต่มีการคาดการณ์ว่า จะอยู่ในช่วงแอ่งน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal Basin) ไปจนถึงปากแม่น้ำที่เป็นทางออกไปสู่ทะเลไอริช (Irish Sea) ตามการรายงานของลิเวอร์พูล เอ็กโค (Liverpool Echo) สื่อท้องถิ่น
ลักษณะเบื้องต้นเครื่องผลิตไฟฟ้านี้ จะมีกังหันผลิตไฟฟ้า 28 ตัว สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2 ทาง ทั้งตอนกระแสน้ำไหลเข้าและไหลออก ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อกระแสน้ำมีระดับความสูงที่แตกต่างกัน โดยอาจสูงได้ถึง 10 เมตรในเมืองลิเวอร์พูล ตามข้อมูลของหน่วยงานติดตามระดับน้ำทะเลของสหราชอาณาจักรอย่าง National Tidal and Sea Level Facility
ทั้งนี้ คาดว่า เครื่องผลิตไฟฟ้าดังกล่าว มีกำลังการผลิตรวมจะอยู่ที่ 700 เมกะวัตต์ และถ้าหากก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำขึ้นน้ำลงที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากที่สุดในโลก และกลายเป็นบริเวณน้ำขึ้นน้ำลงที่สูงที่สุดในโลกที่มีการติดตั้งแต่เครื่องผลิตไฟฟ้า โดยมีศักยภาพในการสร้างไฟฟ้าให้บ้านเรือนกว่า 1 ล้านหลัง เป็นเวลานานกว่า 120 ปี ทุบสถิติเดิมของสถานีไฟฟ้าน้ำขึ้นน้ำลงที่ทะเลสาบซีฮวา (Sihwa Lake Tidal Power Station) ประเทศเกาหลีใต้ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 254 เมกะวัตต์ และมีช่วงน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุด 9 เมตร
โปรเจกต์นี้นอกจากจะผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังจะทำให้มีเส้นทางปั่นจักรยานและทางเดินเท้าข้าม 2 ฝั่งแม่น้ำเมอร์ซีระหว่างเมืองลิเวอร์พูลกับคาบสมุทรวีร์รัล อีกทั้งยังมีการออกแบบประตูระบายน้ำเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม มีการประมาณการว่าโครงการนี้จะใช้งบประมาณหลายพันล้านปอนด์ และไม่ได้มีการเปิดรายละเอียดอื่น ๆ แต่อย่างใด
แม้ว่าลิเวอร์พูลจะไม่ใช่พื้นที่ที่มีช่วงน้ำขึ้นน้ำลงสูงที่สุดในโลก เหมือนกับอ่าวฟันดี้ (Bay of Fundy) ประเทศแคนาดา ที่มีช่วงน้ำขึ้นน้ำลงเฉลี่ย 16.3 เมตร แต่นับเป็นการนำปรากฏการณ์ธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของเมืองลิเวอร์พูลที่ต้องการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ภายในปี 2040 ปัจจุบัน โปรเจกต์นี้รอการอนุมัติจากสมาชิกของหน่วยงานรวมเขตเมืองลิเวอร์พูลในวันที่ 15 มีนาคม 2024 ซึ่งหากผ่านการอนุมัติ หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการวางแผนสร้าง การขออนุญาต การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ คาดว่าขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ปี และเมื่อเข้าสู่กระบวนการสร้าง คาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นหลายพันตำแหน่ง
สตีฟ ร็อตเธอร์แรม (Steve Rotheram) นายกเทศมนตรีเขตเมืองลิเวอร์พูล กล่าวว่า “นี่คือสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานระดับชาติที่สามารถทำให้สหราชอาณาจักรเป็นผู้นำระดับโลกในการแข่งขันด้านพลังงานหมุนเวียน” และยังกล่าวเสริมว่าโครงการนี้ยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณางบประมาณ และเทคนิคการสร้างอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทาย แต่ก็ถือว่าแผนการที่เปิดเผยนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ Mersey Tidal Power เกิดขึ้นมาจริง ๆ
ที่มาข้อมูล Electrek, Energylivenews, Liverpoolcityregion-ca, NewAtlas, Tides.Today
ที่มารูปภาพ Liverpoolcityregion-ca