รีเซต

7 อาการเบื้องต้น ‘โควิดลงปอด’-ผู้ป่วยกลุ่มไหนเสี่ยงอักเสบรุนแรง!

7 อาการเบื้องต้น ‘โควิดลงปอด’-ผู้ป่วยกลุ่มไหนเสี่ยงอักเสบรุนแรง!
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2565 ( 13:41 )
205

สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้เริ่มมีการระบาดมากขึ้นจากเชื้อโควิดโอมิครอนที่กลายพันธุ์ แม้จะยังไม่มีรายงานบ่งชี้ชัดว่าสายพันธุ์นี้อันตรายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากติดเชื้อแล้วผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการว่าในขณะนี้เชื้อลงปอดแล้วหรือยังเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที 

อาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 จะแบ่งเป็น 2 ระยะดังต่อไปนี้ 

ปอดอักเสบระยะแรก : ช่วง 1-5 วัน อาการยังไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการไอ

ปอดอักเสบระยะที่สอง : ช่วง 10-15 วัน หากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไอถี่ หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน หายใจไม่สะดวก

สัญญาณเตือนของอาการปอดอักเสบ

1.มีไข้ติดต่อกัน 48 ชั่วโมง

2.ไอ

3.มีเสมหะ

4.อาจมีอาการหอบเหนื่อย

5.รู้สึกหายใจต้องใช้แรงมาก

6.ทำกิจวัตรประจำวันที่ปกติไม่เหนื่อย แต่ตอนนี้ทำอะไรนิดหน่อยเหนื่อยกว่าเก่า

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นว่าเชื้อโควิดลงปอดหรือยัง

1.มีอาการไข้

2.มีอาการไอ ทั้งไอแห้ง หรือไอแบบมีเสมหะ ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่าปอดเริ่มอักเสบ

3.หายใจลำบาก

4.รู้สึกเหนื่อย หรือหอบ

5.เหนื่อยง่ายขึ้น การเดินขึ้นลงบันได้ หรือออกกำลังกายเล็กน้อย จากปกติไม่เหนื่อย ก็อาจจะเหนื่อยได้

6.รู้สึกหายใจไม่เต็มปอด แน่นหน้าอก

7.สำหรับผู้ที่มีเครื่องวัดออกซิเจน บุคคลปกติจะมีค่าออกซิเจนอยู่ที่ประมาณ 97-100% หากใครมีออกซิเจนต่ำอยู่ที่ 94% หรือต่ำกว่านั้น จะเป็นสัญญาณว่าเชื้อโควิดลงปอดแล้ว

กลุ่มเสี่ยงปอดอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19

กลุ่มที่หากได้รับเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงที่ปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากแต่เดิมปอดทำงานไม่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ได้แก่

- ผู้สูงอายุ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอวัยวะภายในร่างกายจะเริ่มเสื่อมสภาพลงตามไปด้วย

- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับปอดเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายโรค เช่น โรคถุงลมโป่งพอง, หอบหืด, หรือมะเร็งปอด เป็นต้น

- ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน ระดับดัชนีมวลกาย (Body mass index) หรือ BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป

- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่เพิ่มความเสี่ยงปอดอักเสบ เช่น โรคตับ, ความดันโลหิตสูง, ไตวายเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น

การปฎิบัติตัวหากเชื้อโควิดลงปอด

1. จัดท่านอนให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น กอดหมอน นอนคว่ำ เนื่องจากว่าหากนอนหงายปอด 2 ใน 3 อยู่ทางด้านหลัง ทำให้น้ำหนักตัวกับน้ำหนักของหัวใจไปกดบริเวณปอด ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การนอนคว่ำจะทำให้ปอด 2 ใน 3 ที่อยู่ด้านหลังไม่มีการกดทับ ปอดทำงานได้ดีขึ้น ปริมาณออกซิเจนในร่างกายก็จะสูงขึ้น

- ท่านอนให้กอดหมอนไว้ที่หน้าอก แล้วนอนคว่ำ โดยให้หน้าตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง

- ถ้านอนคว่ำไม่ได้ นอนตะแคง กึ่งคว่ำ หรือเฉียงตัวประมาณ 45 องศา

- สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ แนะนำให้นอนโดยตะแคงด้านซ้ายลง และเฉียงตัวประมาณ 45 องศา เพื่อช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น

2.ขยับขาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เช่น งอเข่าเข้าออก หรือเหยียดปลายเท้าแล้วดึงเข้าหาตัว ให้เกิดการเคลื่อนไหวบริเวณกล้ามเนื้อส่วนน่องและส่วนขา ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

  • 3.ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณ 2 ลิตรต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ เลือดไม่ข้น หรือหนืด โอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดก็จะลดลง และช่วยให้ไม่รู้สึกเพลียหรือมีอาการหน้ามืด แต่อย่าทานน้ำมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจาง ถ้าทานอาหารไม่ได้ควรดื่มน้ำเกลือแร่
  • 4.หากมียาที่ต้องทานประจำ แนะนำให้ทานยาให้ต่อเนื่อง อย่าหยุดยาเอง หากไม่มีความจำเป็นป้องกันการกำเริบของโรคประจำตัวที่มีอยู่ สำหรับยาที่อาจจะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ หรือควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ก่อนการปรับหรือหยุดยา ประกอบไปด้วย ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิตสูง  ยาโรคเบาหวาน
  • ข้อมูลจาก  โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม 

    ภาพจาก  : AFP


 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง