รีเซต

สธ.ย้ำพื้นที่ไม่พบผู้ติดโควิด-เสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องปิด ชี้บิ๊กเม้าท์เท่นจัดได้ แต่ต้องเข้มมาตรการ

สธ.ย้ำพื้นที่ไม่พบผู้ติดโควิด-เสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องปิด ชี้บิ๊กเม้าท์เท่นจัดได้ แต่ต้องเข้มมาตรการ
มติชน
4 ธันวาคม 2563 ( 14:41 )
71
สธ.ย้ำพื้นที่ไม่พบผู้ติดโควิด-เสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องปิด ชี้บิ๊กเม้าท์เท่นจัดได้ แต่ต้องเข้มมาตรการ

วันที่ 4 ธันวาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงข่าวความคืบหน้าของการสอบสวนโรคการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และให้ข้อมูลถึงการปิดสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดของประเทศไทย

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า แนวทางพิจารณาปิดสถานประกอบการ หรือสถานศึกษา คือ 1.หากพบผู้ติดเชื้อ หรือ ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 ราย ให้ปิดห้องเรียนหรือแผนกนั้น เป็นเวลา 3 วันเพื่อทำความสะอาด 2.หากพบผู้ป่วยมากกว่า 1 ห้องเรียนหรือแผนก ให้ปิดชั้นหรือแผนกนั้น ทำความสะอาด 3 วัน และดูสถานการณ์สอบสวนโรคเพิ่มเติม และในกรณีที่ไม่ต้องปิด คือ สถานที่ไม่พบผู้ป่วย เนื่องจากผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วย ไม่มีโอกาสแพร่เชื้อ แต่ต้องนำตัวเข้ากักตัว สังเกตอาการ ดังนั้น จึงไม่ต้องปิดสถานที่ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่อาจทำความสะอาดเพิ่มเติมได้ การปิดโรงเรียนต่างๆ เป็นมาตรการมากเกินสมควร ขอให้เปิดสถานศึกษาต่าง ๆ หากไม่พบผู้ป่วยในหน่วยงานนั้น ๆ ยังไม่จำเป็นต้องปิด ทั้งนี้ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำไม่ถือว่ามีความเสี่ยง

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ยอมรับการสอบสวนโรค ใน หญิงไทย 10 รายที่ลักลอบเดินทางเข้าไทย ทางช่องทางธรรมชาติมาจาก จ.เชียงราย มีความยุ่งยาก เพราะทุกคน ไม่ยอมให้ข้อมูลที่แท้จริง เนื่องจากกลัวความผิดทำให้ไม่ยอมบอก และ ทั้ง 10 รายนี้เป็นเพื่อนกัน ทำให้มีการนัดแนะ การให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่การสอบสวนโรค จึงมีความยากลำบาก ต้องมีการสอบทานข้อมูล และใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย โดยการเทียบกับซิมการ์ด โทรศัพท์ จึงอยากย้ำว่าการให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ง่ายขึ้นในการสอบสวนควบคุมโรค เพราะทั้ง 10 รายนี้ ให้ข้อมูลที่แท้จริงแค่ 50% และผลการตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสจาก 10 รายนั้น ร่วม 699 ราย ขณะนี้ผลออกมากว่า 200 รายแล้วยังเป็นลบอยู่ แต่จะต้องมีการตรวจซ้ำหลัง 7 วันหลังการฟักตัวของโรค

 

“ประชาชนที่จะไปเที่ยวสถานบันเทิง ขอให้ระมัดระวังตนเอง สวมหน้ากากอนามัยมากที่สุดเท่าที่ทำได้ งดกิจกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน สูบบุรี่ร่วมกัน ก็ให้เลี่ยงกิจกรรมที่เป็นความเสี่ยง ส่วนผู้ที่ไปเที่ยวงานสิงห์ปาร์ค จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผู้เดินทางไปวันที่ 29 พฤศจิกายน ขอให้มารายงานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ที่ใกล้บ้าน และหากพบผู้ลักลอบเข้าเมือง ให้แจ้งไปยังฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร นายอำเภอ หรืออาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) แต่ผู้ที่กลับจาก จ.เชียงใหม่-เชียงราย หากไม่ได้ไปอยู่ที่เดียวกันหรือไปพบผู้ป่วย ไม่ต้องกักตัว เพราะไม่ใช่ผู้ที่มีความเสี่ยง” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า เรามีประสบการณ์พอสมควรในการดำเนินงาน ดังนั้นหากประชาชนให้ความร่วมมือกันมากขึ้น จากที่สวมหน้ากากอนามัย น้อยลงก็ให้สวมมากขึ้น ลงทะเบียนในไทยชนะมากขึ้น หลีกเลี่ยงที่อโคจรต่าง ๆ เพราะเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยการระบาดจะเป็น 3 ระยะ คือ ผู้ป่วยนำเข้าเป็นรายๆ (Spike Only) การพบผู้ป่วยจำนวนไม่มาก(Small Wave) และ การพบผู้ป่วยจำนวนมาก(Big Wave) สถานการณ์ในประเทศของไทยขณะนี้อยู่ในระยะพบผู้ป่วยนำเข้าเป็นรายๆ (Spike) ยอดแหลมเล็ก ๆ แต่อาจเกิดผู้ป่วยต่อเนื่องมากได้ แต่เราพยายามสกัดไม่ให้เกิดขึ้น โดยพยายามควบคุมโรคให้ได้เร็ว แต่ข้อดีของการพบการติดเชื้อครั้งนี้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นหลายจังหวัด แต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น มีการตอบสนองที่เร็ว ประชาชนให้ความร่วมมือดีแม้ว่าจะตระหนกบ้าง

 

เมื่อถามว่า การจัดงานบิ๊กเม้าท์เท่น (2020 Big Mountain Music Festival) ในช่วงเดือนธันวาคม สามารถจัดได้ หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า สามารถจัดได้ แต่ต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรอง มีการสแกนแอปพลิเคชั่นไทยชนะ เป็นไปตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หรือจะมีการมาตรการเสริมเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจอีก ส่วนประชาชนหากเข้าร่วมงานขอให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และอย่าลืมสแกนไทยชนะ” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง