รีเซต

รายแรก! ลำปางพบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" มีตุ่มขึ้นที่ใบหน้า-มือทั้งสองข้าง

รายแรก! ลำปางพบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" มีตุ่มขึ้นที่ใบหน้า-มือทั้งสองข้าง
TNN ช่อง16
19 ตุลาคม 2566 ( 11:44 )
132

ลำปางพบผู้ป่วย "โรคฝีดาษลิง" รายแรกเป็นเพศชาย ขณะนี้นำตัวเข้าห้องแยกโรค ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก


ที่จ.ลำปาง นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้ประกาศให้ ประชาชนใน จ.ลำปาง ทราบว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.ลำปาง พบประชาชน ป่วยเป็นโรคฝีดาษวานร จำนวน 1 ราย เป็นเพศชาย ซึ่งถือว่าเป็นรายแรก ที่พบในพื้นที่ จ.ลำปาง ว่า โดยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้ป่วยรายนี้ เข้ามารับการตรวจรักษาที่แผนกอายุรกรรมทั่วไป โรงพยาบาลลำปาง ด้วยอาการมีตุ่มนูนขึ้นบริเวณใบหน้า ขมับซ้าย แก้มขวา คาง และที่มือทั้งสองข้าง ตุ่มกดเจ็บ จึงเป็นผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร


ทั้งนี้ จึงให้งานระบาดวิทยาดำเนินการสอบสวนโรค และเก็บตัวอย่าง จากแผลปู้ป่วยส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ และได้รับการยืนยันผลกลับมา เมื่อวานนี้ (18 ตุลาคม ) ว่า ผู้ป่วยรายนี้ ติดเชื้อฝีดาษวานรจริง เบื้องต้นทางโรงพยาบาลลำปางได้รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในห้องแยกโรค และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ได้สั่งการให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ตรวจสอบความพร้อมใช้ของถุงมือ , หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ , หน้ากากอนามัยชนิด N 95 , Gown , แอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งความพร้อมขอห้องแยกโรค โดยไม่จำเป็นต้องใช้ห้องความดันลบ


โรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด DNA ชื่อ Monkey pox ซึ่งเกิดการติดเชื้อในสัตว์มาก่อน และสามารถติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้ อาการของโรคจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ที่สำคัญ คือ มีต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นลักษณะเป็นผื่นแบน จากนั้นค่อยนูนเป็นคุ่มใส หรือตุ่มหนอง ผื่นมักเกิดขึ้นที่หน้า แขนขา ฝ่าเท้า ฝ่ามือ มากกว่าที่ตัว สามารถพบได้ในเยื่อบุต่างๆ เช่น ในช่องปาก เยื่อบุตา อวัยวะเพศ และทวารหนัก


โรคนี้สามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัส ทั้งจากสัตว์สู่คน ได้แก่ สัตว์จำพวกหนู กระรอก และลิง และจากคนสู่คนที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยการสัมผัสที่ผื่นโดยตรง สัมผัสเลือด สัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ จากร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย การไอจาม หรือจากสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มชายรักชาย การป้องกันโรคฝีดาษวานร มีดังนี้ งดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า , ไม่สัมผัสกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหนอง , ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ


อย่างไรก็ตามโรคฝีดาษวานร ไม่ได้ร้ายแรงและไม่ติดต่อกันได้ง่าย ขอให้ชาวลำปางอย่าได้ตื่นตระหนก ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคนี้แล้ว และขอความร่วมมือชาวลำปาง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ปฎิบัติตามคำแนะนำการป้องกันโรค หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์




ภาพจาก ผู้สื่อข่าวลำปาง/AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง