สิงคโปร์เชื่อสหรัฐฯไม่เจรจาภาษีร้อยละ 10

นายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ ออกมาเตือน ว่า การที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานในอัตรา 10% จากทุกประเทศ ดูเหมือนจะไม่เปิดช่องให้มีการเจรจาต่อรอง และอาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่พึ่งพาการค้า จนอาจทำให้ต้องปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)
ในการแถลงต่อรัฐสภา นายกฯ หว่องกล่าวว่า รัฐบาลคาดว่าจะต้องปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2568 จากผลกระทบครั้งนี้ (ปัจจุบันคาดการณ์ไว้ที่ 1-3%) แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ และดูเหมือนว่าอัตราภาษีพื้นฐาน 10% นี้ จะไม่เปิดให้มีการเจรจา เหมือนเป็นอัตราภาษีขั้นต่ำที่กำหนดไว้ตายตัว โดยไม่คำนึงถึงดุลการค้าของแต่ละประเทศ หรือข้อตกลงการค้าเดิมที่มีอยู่"
นายกฯ หว่องยังแสดงความผิดหวังอย่างมากต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่สิงคโปร์มีกับสหรัฐฯ และ "มิตรภาพอันลึกซึ้งและยาวนาน" ระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม นายกฯ หว่องยืนยันว่าสิงคโปร์จะไม่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้
นอกจากนี้ นายกฯ หว่องยังเตือนว่ามีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดสงครามการค้าโลกอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง และความต้องการสินค้าและบริการจากสิงคโปร์ลดน้อยลง พร้อมเตือนว่าอาจเกิดการเลิกจ้างและการสูญเสียตำแหน่งงาน หากบริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตจากสิงคโปร์ไปยังสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สิงคโปร์โดนเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% ดังกล่าว แม้จะไม่ได้ถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่านี้เหมือนกับอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกาศไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับดุลการค้าสหรัฐฯ-สิงคโปร์ที่แตกต่างกัน โดยข้อมูลจากฝั่งสหรัฐฯ ในเว็บไซต์สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ระบุว่า สหรัฐฯ เกินดุลการค้าสินค้ากับสิงคโปร์ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสิงคโปร์เพิ่งกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ยอดเกินดุลของสหรัฐฯ ในปี 2567 สูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ