รีเซต

ผู้ว่าฯแพร่เผย ตั้ง กก.สอบปมทุบอาคารเก่า 120 ปีแล้ว ขอเวลาตรวจสอบทุกขั้นตอน ชี้นัดทุกฝ่ายชี้แจงวันศุกร์นี้

ผู้ว่าฯแพร่เผย ตั้ง กก.สอบปมทุบอาคารเก่า 120 ปีแล้ว ขอเวลาตรวจสอบทุกขั้นตอน ชี้นัดทุกฝ่ายชี้แจงวันศุกร์นี้
มติชน
16 มิถุนายน 2563 ( 14:46 )
179
ผู้ว่าฯแพร่เผย ตั้ง กก.สอบปมทุบอาคารเก่า 120 ปีแล้ว ขอเวลาตรวจสอบทุกขั้นตอน ชี้นัดทุกฝ่ายชี้แจงวันศุกร์นี้

สืบเนื่องจากกรณีรื้อถอนอาคารบอมเบย์เบอร์มา อายุ 120 ปี ที่ จ.แพร่ ต่อมามีกลุ่มประชาชนเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ให้ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานในโครงการที่ระบุว่าซ่อมแซม ปรับปรุง แต่กลับให้ผู้รับเหมาเข้ามารื้อถอนทำใหม่ด้วยงบ 4.5 ล้านบาทนั้น

 

ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 16 มิถุนายน ที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ นางกานต์เปรมปรีด์ กล่าวในที่ประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรภาครัฐและเอกชนในจังหวัดแพร่ร่วมรับฟังในครั้งนี้ ว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนสบายใจในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว โดยจะต้องทำอย่างโปร่งใส และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามงบประมาณ และตอบทุกคำถามว่า การทุบ การทำฐานรากใหม่ต้องให้ตรงตามหลักวิศวกรรม เมื่อแล้วเสร็จต้องให้เหมือนเดิมทุกกระเบียดนิ้ว และสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนได้คือความชำรุดเสียหาย เปลี่ยนซ่อมได้ ตอนนี้ขอให้ตนได้ตรวจสอบตั้งแต่การเริ่มโครงการและการของบประมาณ จนการทำทีโออาร์ และการก่อสร้างว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่

 

นายธีรวุฒิ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ กล่าวว่า คงต้องมีการเข้าไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะคนเมืองแพร่ว่าสาเหตุข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ในความรู้สึกของคนแพร่แล้ว ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 120 ปี เกี่ยวกับการทำไม้ของบริษัทต่างชาติที่ทิ้งรอย เรื่องราวให้ได้ศึกษา และอนุสรณ์สถานให้ได้เห็น ได้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่ไม่ทราบเหตุผลที่ทุบทิ้งขนาดนี้ การยื่นหนังสือให้กับทางจังหวัดแพร่จึงยื่นให้ท่านดำเนินการตรวจสอบการรื้อถอนทำลายอาคารประวัติศาสตร์ฯ ดังนี้ 1.ระงับการก่อสร้างโครงการ ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่ ทันที 2.เปิดเผยข้อมูลโครงการ งบประมาณ รูปแบบการก่อสร้าง แผนการดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบโครงการ 3.ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบในการรื้อถอนทำลายอาคารประวัติศาสตร์ฯ 4.สร้างประชาคมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่สวนรุกขชาติเชตวันอย่างเปิดกว้าง 5.หน่วยงานที่รับผิดชอบนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา และฟื้นฟูบูรณะ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2563 นี้

 

นายกุลศักดิ์ ชัยวัณณคุปต์ เจ้าของและทายาทบ้านประทับใจ ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนแพร่และมีความผูกพันกับเรื่องไม้มานานตั้งแต่เด็กๆ เห็นอาคารหลังนี้มา จังหวัดแพร่มีวิศวกรที่เก่ง และสามารถแก้ไขได้ด้วยการคำนวณหรือมีแนวทางอื่น ในฐานะที่เป็นเจ้าของบ้านไม้สักหลักใหญ่ อายุ 40 ปีขึ้น และเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ บ้านที่มีอายุหลายสิบปีย่อมมีการผุพังและทรุด สำหรับบ้านประทับใจก็เช่นกัน แต่เราแก้ปัญหาด้วยการทำโครงสร้างเหล็กรองรับตัวบ้านทั้งหมด เพื่อเป็นการพยุงไม่ให้ทรุด เราสามารถทำได้

 

“ในฐานะคนแพร่ อยากจะถามว่า ราคา 4.5 ล้าน เมื่อรื้อออกมาแบบนี้แล้วจะสามารถทำให้เหมือนได้ในงบประมาณนี้ ในสายตามองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เรื่องนี้คงต้องมีคำตอบให้คนแพร่ได้กระจ่าง” นายกุลศักดิ์กล่าว

นายเอกชัย วงศ์วรกุล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเสียใจ แต่ทางออกที่ดีคือ ทุกฝ่ายต้องเข้ามาแก้ไข และหาแนวทางออกร่วมกัน ในแต่ละหัวข้อที่มีการตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ โดยในวันศุกร์ที่จะถึงนี้จะมีการนัดหมายพบกันของทุกฝ่าย โดยให้จังหวัดนำข้อมูลและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อความกระจ่างของทุกฝ่าย โดยเฉพาะบริษัทรับเหมา วิศวกรคุมงาน ตอบทุกรายละเอียดของข้อสงสัย เพื่อการแก้ไขปัญหาและมีแนวทางร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน

ขณะที่ นางเสาวลักษณ์ วิสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับจังหวัดหลายนัดในเรื่องการปรับปรุงและผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว แต่ไม่เคยมีโครงการนี้ผ่านสายตาและรับทราบข้อมูล แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้รับผิดชอบ เหตุใดจึงไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือสอบถามคนในพื้นที่ และให้มีกระบวนการส่วนร่วมในขั้นตอน และที่สำคัญจะต้องตอบคำถามคนแพร่ให้ได้ว่าผ่านตรงจุดนี้ไปสู่การทุบทิ้งทำลายได้อย่างไร

ย้อนอ่าน : ช็อก! ผู้รับเหมาทุบอาคารบอมเบย์เบอร์มา 120ปี อนุสรณ์ค้าไม้เมืองแพร่ ชาวบ้านข้องใจทำไมต้องทุบ
ชาวแพร่ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ตรวจสอบปมรื้อถอน ‘อาคารบอมเบย์เบอร์มา’ ผู้ดูแลแจงระงับดำเนินการแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง