รีเซต

'ประจวบฯ' บรรเจิด เปิดตัว “น้องค่างแว่น” มาสคอตประจำเมือง เทียบชั้น 'หมีคุมะมง' ญี่ปุ่น

'ประจวบฯ' บรรเจิด เปิดตัว “น้องค่างแว่น” มาสคอตประจำเมือง เทียบชั้น 'หมีคุมะมง' ญี่ปุ่น
มติชน
1 เมษายน 2565 ( 10:23 )
218
'ประจวบฯ' บรรเจิด เปิดตัว “น้องค่างแว่น” มาสคอตประจำเมือง เทียบชั้น 'หมีคุมะมง' ญี่ปุ่น

ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ว่าฯ ประจวบเปิดตัว “น้องค่างแว่น” แอมบาสเดอร์ส่งเสริมท่องเที่ยว โดยศึกษาต้นแบบจากเมือง “คุมาโมโตะ” ประเทศญี่ปุ่น ที่มีน้องหมี “คุมะมง” หมีดำแก้มแดง เป็นสัญญาลักษณ์ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวจนโด่งดังไปทั่วโลก

 

วันที่ 1 เมษายน 2565 นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากว่า 2 ปี ทำให้นักท่องเที่ยวและรายได้ลดลงมาก ทางจังหวัดจึงได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยกันคิดหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวให้มีความเชื่อมโยงทุกอำเภอ ตั้งแต่ อำเภอหัวหิน ถึง อำเภอบางสะพานน้อย โดยจัดแบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน ได้แก่ หัวหิน-ปราณบุรี , สามร้อยยอด-กุยบุรี-เมืองประจวบคีรีขันธ์ และ ทับสะแก-บางสะพาน-บางสะพาน เพื่อต้องการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้เสนอการกำหนดตัวแอมบาสเดอร์ส่งเสริมท่องเที่ยว หรือตัวมาสคอต ซึ่งก่อนหน้านี้ เรามี “น้องหัวหิน” และ “หนูจวบ” แล้ว แต่ยังไม่ใช่ แอมบาสเดอร์ส่งเสริมท่องเที่ยวที่แท้จริง กระทั่งมาได้ข้อสรุปที่ ค่างแว่นถิ่นใต้ หรือ “น้องค่างแว่น” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก นิสัยดี เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

สำหรับ ลักษณะทั่วไปของ ค่างแว่นถิ่นใต้ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีหากินอยู่ที่บริเวณเขาล้อมหมวก กองบิน 5 อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนั้นยังมีที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ลักษณะเด่นคือ มีวงสีขาวรอบดวงตา และที่ขาและหาง ส่วนขนมีสีเทาและสีน้ำตาล ลูกค่างแว่นถิ่นใต้มีขนสีเหลืองทอง กินใบไม้ ยอดอ่อนต้นไม้เป็นอาหารหลัก ขนาดตัวเฉลี่ย 55 ซม. อายุเฉลี่ย 25-31 ปี เป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งนี้ค่างแว่น ชอบอาศัยเป็นฝูง มีนิสัยเป็นมิตร ซุกซน และขี้อาย

 

เมื่อนำน้องค่างแว่น มาสื่อความหมาย ลักษณะการอยู่รวมกันเป็นฝูงดูแลกันและเป็นมิตร หมายถึงลักษณะนิสัยคนประจวบฯที่เป็นมิตร เปิดรับนักท่องเที่ยวและชอบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนนิสัยขี้อาย หมายถึง การมีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆซึ่งรอการค้นพบจากนักท่องเที่ยวอีกเป็นจำนวนมาก

 

ทั้งนี้ทางจังหวัด ได้ศึกษาต้นแบบจากเมือง“คุมาโมโตะ” ประเทศญี่ปุ่น ที่มีลักษณะการท่องเที่ยวที่คล้ายกันกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือเป็นเมืองทางผ่านที่มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก และมีคุมาโมโตะมีหมีดำแก้มแดง“คุมะมง”เป็นแอมบาสเดอร์ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกเลยทีเดียว

 

โดยเบื้องต้น ได้ออกแบบ “น้องค่างแว่น” มา 3 รูปแบบ สำหรับใช้โปรโมทเป็นการชั่วคราวในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ในการจัดงานท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์ มหัศจรรย์เมืองสามอ่าว และงานกาชาดประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน 2565 นี้เป็นการชั่วคราว

 

จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไป และเยาวชนในสถานการศึกษา ได้ร่วมกันแสงความคิดเห็นผ่านช่องทางเว็ปไซด์ ซึ่งทางจังหวัดจะกำหนดขึ้น และหากการออกแบบมีความสมบูรณ์พร้อมแล้ว จึงจะดำเนินการสร้างสัญญาลักษณ์ “น้องค่างแว่น” พร้อมทั้งตั้งชื่ออย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดย “น้องค่างแว่น” จะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งผลิตภัณฑ์ของชุมชน ผลผลิตทางการเกษตร ของทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างเป็นทางการต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง