รีเซต

เตือนฝนถล่มใต้ น้ำท่วมฉับพลัน ระวังน้ำป่า ปภ.สรุป13จว.น้ำยังท่วม

เตือนฝนถล่มใต้ น้ำท่วมฉับพลัน ระวังน้ำป่า ปภ.สรุป13จว.น้ำยังท่วม
TrueID
4 พฤศจิกายน 2564 ( 08:13 )
81
เตือนฝนถล่มใต้ น้ำท่วมฉับพลัน ระวังน้ำป่า ปภ.สรุป13จว.น้ำยังท่วม

กรมอุตุฯเตือนทั่วไทย ยังมีฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักในภาคใต้ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลากด้าน ปภ.สรุปภาพรวมยังมีน้ำท่วม 13 จังหวัด เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยขณะที่พ่อเมืองสุราษฎร์ธานี แจ้งพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังน้ำป่า-ดินถล่ม 3-6 พ.ย.นี้

 

เมื่อวันที่ 3พฤศจิกายนกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ลักษณะอากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณความกดอากาศสูงยังคงแผ่เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ขณะที่มีลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมด้านตะวันออกของประเทศมาเลเซีย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคใต้ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก

 

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร

 

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่ฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2 เมตรภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 1 เมตร

 

ส่วน กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบจากอิทธิพลพายุ‘เตี้ยนหมู่’ พายุ‘ไลออนร็อก’ พายุ‘คมปาซุ’ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนถึงปัจจุบันทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งใน 13 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี นครราชสีมา สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม และปราจีนบุรี รวม 43 อำเภอ 352 ตำบล 2,031 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 90,367 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 21 ราย ในภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายแล้วหลายพื้นที่แต่ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี และนครราชสีมา ส่วนภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐมภาคตะวันออก ได้แก่ ปราจีนบุรี ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำและให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

 

นายวิชวุทย์จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานีเปิดเผยว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีประกาศฉบับที่ 26/2564 แจ้งการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า จ.สุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัย น้ำป้าไหลหลาก ดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2564 เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ปัญหา จึงให้อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ราบลุ่ม ที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหล เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังปริมาณฝนและปริมาณน้ำสะสม รวมถึงประสานให้อุทยานทุกแห่งหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นน้ำตก ถ้ำ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังใกล้ชิด ถ้ามีสถานการณ์วิกฤตให้ปิดหรือห้ามเข้าโดยเด็ดขาด

 

นอกจากนี้ ให้เตรียมแผนเผชิญเหตุ ทรัพยากรกู้ภัย เครื่องจักรกล กำลังเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดสาธารณภัย ให้รายงานสถานการณ์ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สุราษฎร์ธานีทราบโดยเร่งด่วน

 

ข้อมูล : กรมอุตุฯ

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง