รีเซต

สทนช.มั่นใจสถานการณ์น้ำปีนี้จะไม่ซ้ำรอยอุทกภัย 54

สทนช.มั่นใจสถานการณ์น้ำปีนี้จะไม่ซ้ำรอยอุทกภัย 54
TNN ช่อง16
15 มิถุนายน 2567 ( 12:18 )
23

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมในการรับมือฝนตกหนักจากสถานการณ์ลานีญา ซึ่งคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝน โดยให้ทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ คาดว่าแต่ละหน่วยงานจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 67 ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์น้ำหลากและสภาวะลานีญาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้


ส่วนที่หลายภาคส่วนมีข้อกังวลว่าในปีนี้อาจเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 นั้น นายสุรสีห์ ระบุว่า ทางสทนช. ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ  ได้บูรณาการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ฝน ตลอดจนสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องพบว่า สถานการณ์ในปีนี้แตกต่างจากปี 2554  ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝนในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย  ในขณะที่ปี 2554 ฝนตกอย่างต่อเนื่อง สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% 


อีกทั้งพายุหมุนเขตร้อนที่พัดผ่านประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะมีเพียง 1-2 ลูก แต่ในปี 2554 มีพายุมากถึง 5 ลูก จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่กินพื้นที่มากกว่า 5.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในช่วงปี 2554 ยังกระจัดกระจายขาดเอกภาพ  มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากถึง 48 หน่วยงาน ก่อให้เกิดปัญหาความทับซ้อนในเชิงโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ การใช้งบประมาณ เพราะไม่มีหน่วยงานหลักเข้ามาดูแลบริหารจัดการในภาพรวม แต่ในปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีเอกภาพมากขึ้น ภายหลังจากการจัดตั้ง “สํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” ขึ้นมาเมื่อ ปี 2560 เพื่อทําหน้าที่บูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน 


เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไปประเทศไปสู่การปฏิบัติในปัจจุบัน ก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมา ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ในระดับชาติ โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทํานโยบายและแผนแม่บท ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ   ส่วนในระดับลุ่มน้ำ มีจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำขึ้นมาขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ และในระดับพื้นที่ มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ขึ้นมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในปัจจุบัน จึงมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับสถานการณ์จริง และอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง 


สำหรับนโยบายการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันก็แตกต่างจากในอดีต ปัจจุบันจะเน้นการดําเนินงานเชิงรุก คือเป็นการเตรียมการรับมือก่อนเกิดปัญหา รวมทั้งยังได้มีการบูรณาการวางแผนการบริหารจัดการน้ำหลากและจัดจราจรการระบายน้ำในแต่ละลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เช่น  ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล - ลุ่มน้ำชี  และหากมีแนวโน้มเกิดภาวะวิกฤติก็จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย” ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์อย่างแน่นอน


ที่มาภาพ : สทนช.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง