อาเซียนเดินหน้าความร่วมมือศก.สหรัฐ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษ ผ่านระบบทางไกล กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และติมอร์-เลสเต เพื่อหารือแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการรับมือกับนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้มาตรการจัดเก็บภาษีแบบตอบโต้กับหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา และเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานโลก และการดำเนินธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะ SMEs และเกษตรกรของอาเซียน
โดยการประชุมครั้งนี้ อาเซียนมีมติจะออกถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อแสดงจุดยืนของอาเซียน ในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” กับสหรัฐฯ พร้อมเสนอการเจรจาเชิงสร้างสรรค์และหาทางออกที่สมดุลร่วมกัน ภายใต้กรอบ ASEAN-US Strategic Trade and Investment Partnership (STIP) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะทำงานพิเศษ “ASEAN Geoeconomics Task Force” ทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน และเสนอแนะนโยบายในการรับมือและใช้ประโยชน์จากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทั้งระดับรัฐและเอกชน
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้ารวมในปี 2567 ราว 476,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกสินค้าสำคัญไปสหรัฐฯ 5 อันดับแรก คือ ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง รองเท้า เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร และนำเข้าจากสหรัฐฯ 5 อันดับแรก คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และยานยนต์ ชิ้นส่วน และเครื่องยนต์
สำหรับไทย สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 โดยในปี 2567 ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 74,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 54,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 19,528 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลการค้ากว่า 35,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ