ผ่านฉลุย! สภารับร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ 'วิษณุ' รับปากแก้ไขได้ ถ้าไม่พอใจ
ที่ประชุมรัฐสภา ฉลุยผ่านร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 'วิษณุ' รับปากแก้ไขได้ในชั้น กมธ. ถ้าไม่พอใจ
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 1 ธ.ค. 2563 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงมติ พ.ศ. ... ไม่ได้รีบร้อนอย่างที่สมาชิกหลายท่านอภิปราย เรื่องนี้ต้องให้เครดิต กกต. เพราะกกต.เสนอร่างพ.ร.บ.นี้มาตั้งแต่ปี 2562 ก่อนมีการเลือกตั้งส.ส.ปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากเป็นปลายสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้มีการออกเสียงประชามติคงยังไม่เกิดขึ้น หากรอไว้ก่อนก็จะทำให้ส.ส.ที่เข้ามาใหม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และปรับปรุงให้ร่างนั้นสมบูรณ์ขึ้น
"รัฐบาลจึงตัดสินใจไม่นำเสนอร่างนั้นต่อสนช. แต่เก็บไว้จนการเลือกตั้งแล้วเสร็จก่อนส่งคืนไปยังกกต. ให้พิจารณาปรับรปรุงกลับมาใหม่ จังหวะเดียวกันมีการออกพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดร่างกฎหมายและการรับฟังความคิดเห็น โดยกำหนดว่าการรับฟังความเห็นตามาตรา 77 จะต้องทำอย่างไร กกต.จึงใช้โอกาสนั้นดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ดังกล่าว และส่งกลับมารัฐบาลช่วงกลางปีนี้ ทำให้รัฐบาลได้รับฟังความเห็นของหน่วยงานต่างๆ"
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า กระทั่งครม.มีมติเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้เสนอมายังรัฐสภาได้ จึงยืนยันว่า ไม่ได้มีความรีบร้อนเร่งด่วนหรือชิงตัดหน้าใครทั้งนั้น การพิจารณาได้เร็วเป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การรับฟังความเห็นเพื่อออกเสียงประชามติ จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ รัฐบาลจึงเร่งรัดให้กฤษฎีกาตรวจจนแล้วเสร็จ เพราะหากไม่มีกฎหมายรองรับจะต้องหยุดทิ้งไว้นาเกินควร หากเป็นเช่นนั้นจะต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็จะไม่สวยงามถูกครหา ดังนั้น การเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... จึงน่าจะเหมาะสมด้วยกาลเทศะทุกประการ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนเนื้อหาสาระหากไม่เป็นที่พอใจของสมาชิก ก็เป็นอำนาจและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตนรับปากว่าสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ รัฐบาลไม่ขัดข้องหมองใจหากสมาชิกรัฐสภาจะแก้ไขส่วนใด หลายท่านฝันอยากเห็นแบบไหนก็แก้ไขในชั้นกมธ. ท่านสามารถรื้อได้ทั้งฉบับตามที่ท่านเห็นสมควร หากจะแปรญัตติอย่างไรรัฐบาลก็ยินดี นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วหลายครั้ง อาจจะมากกว่าร่างพ.ร.บ.อื่นๆด้วยซ้ำ
"ส่วนที่ประชาชนไม่ค่อยแสดงความเห็นกลับมา ก็เป็นธรรมดาเพราะประชาชนอาจจะรู้สึกว่ากฎหมายบางอย่างยากต่อความเข้าใจ หรือคิดว่าไม่เกี่ยวอะไรกับตนจึงไม่ได้แสดงความคิดเห็นมา ส่วนที่สมาชิกเห็นว่า น่าจะมีการออกเสียงประชามติทางไปรษณีย์หรือออนไลน์ได้นั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีเพราะยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่หากชั้นกมธ.คิดว่าทำได้ก็ลองเสนอปรับปรุงเข้ามา หรือเสนอไปยังกกต.ก็ได้ จึงขอให้สมาชิกรับร่างนี้ไว้เพื่อให้การดำเนินการอื่นๆที่จะตามมาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว" นายวิษณุ กล่าว
จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ด้วยคะแนน 561 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 50 โดยตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 49 คน