คลังหนุนแนวคิด NIT กระตุ้นกลุ่มเปราะบางทำงานแลกเงิน
คลังหนุนแนวคิด NIT กระตุ้นกลุ่มเปราะบางทำงานแลกเงิน ชี้เป็นหลักการ Workfare ต่างจาก Welfare เชื่อจะช่วยลดรายจ่ายภาครัฐที่จ่ายให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางราว 20 สวัสดิการกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
#ทันหุ้น นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวสนับสนุนแนวคิด Negative Income Tax (NIT)ที่ให้เงินสวัสดิการแก่คนทำงาน หรือ Workfare สำหรับคนรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
เขากล่าวว่า แนวคิด NIT เป็นการกระตุ้นให้คนทำงาน เพื่อแลกกับการได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐ ในกรณีที่รายได้ของคนๆนั้นยังอยู่ไม่เกินเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่กำหนด โดยคนที่ทำงานและมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุน ในส่วนต่างระหว่างรายได้ของคนๆนั้น กับเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไม่มีงานทำ รัฐก็อาจอุดหนุนเงินให้ระดับหนึ่งแต่อาจน้อยกว่าคนที่ทำงาน
“แนวคิด NIT ไม่ใช่เป็น Welfare แต่เป็น Workfare คือ ต้องงานจึงจะได้รับเงินจากรัฐบาล” นายลวรณกล่าว
เขาเชื่อว่า หากสามารถนำ NIT มาใช้ได้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของรัฐลงได้ และยังสามารถลดความซ้ำซ้อนของสวัสดิการที่รัฐให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 20 สวัสดิการ เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ในแต่ละปีใช้งบประมาณราว 5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวคิด NIT นั้น คนที่ต้องการสวัสดิการจากรัฐ จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในทุกปี กับกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบรายได้ของคนๆนั้นว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐหรือไม่
NIT เป็นหนึ่งในแนวคิดของความพยายามที่จะหาวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยต้องการกระตุ้นให้คนทำงาน แต่หากคนๆนั้นมีรายได้ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด รัฐจะจัดสรรเงินภาษีให้จำนวนหนึ่ง เมื่อคนๆนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐก็จะจูงใจโดยให้เงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีก ระยะนี้เรียกว่าเป็นระยะ Phase In จนกระทั่งรายได้ของคนๆนั้นถึงจุดหนึ่ง อัตราการช่วยเหลือของรัฐ จะคงที่ และหากคนๆนั้น สามารถมีรายได้สูงขึ้น จนเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด รัฐก็จะเลิกการให้เงินสนับสนุน ซึ่งแนวคิดนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเคยเสนอเมื่อสิบปีที่แล้ว
ดังนั้น หลักการของ NIT คือ Workfare ที่คนต้องทำงาน และต้องเข้ามาอยู่ในระบบภาษี แต่หากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็จะได้รับการสนับสนุนเงินจากรัฐ ต่างจาก Welfare ที่คนอาจไม่ต้องทำงานก็ได้ แต่สามารถได้รับสวัสดิการจากรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ภาระรายจ่ายในรายการที่ยากจะตัดทอนของรัฐบาล เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีงบประมาณ 2566 มีรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนรวมอยู่ที่2.139 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 67.16% ของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 65.83% ในปีงบประมาณ 2565 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากรายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพัน รวมไปถึงรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ และประชาชนที่เพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่สัดส่วนรายจ่ายเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐปรับตัวลงเล็กน้อย จากปี 2566 ที่อยู่ที่ 25.69 %ของงบประมาณรายจ่าย ขณะที่ปีงบประมาณ2566 อยู่ที่ 26.19 %