สภาพอากาศร้อนแบบนี้! อร่อยปาก ลำบากพุง เสี่ยง 'อาหารเป็นพิษ' ได้
สภาพอากาศร้อนแบบนี้ ระวังเสี่ยงป่วยโรคอาหารเป็นพิษได้ เนื่องจากอาหารที่เราทำ หรือซื้อมารับประทานวางไว้แปีปเดียว บูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ วันนี้ TureID มี 3 ทริคง่าย ๆ จากกรมควบคุมโรคมาแนะนำให้เราทุกคนระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งเป็นพิเศษ ในช่วงที่สภาพอากาศวันนี้ร้อน
โรคอาหารเป็นพิษ ร้ายแรงขนาดไหน?
จากข้อมูลสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 22 มิถุนายน 2564 พบผู้ป่วย 34,259 ราย เสียชีวิด 1 ราย
กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
- อายุ 15-24 ปี
- อายุ 25-34 ปี
- อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
ขณะที่ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ อุบลราชธานี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เชียงราย และศรีสะเกษ
โรคอาหารเป็นพิษนั้น เกิดจากอะไร? เกิดจากการที่เรารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษ ที่มากับอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด อาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง โดยไม่แช่เย็นหรือนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน สำหรับอาการของโรคอาหารเป็นพิษ จะมี
- อาการคลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ
- ปวดศีรษะ
- คอแห้งกระหายน้ำ อาจมีไข้ร่วมด้วย
- ในรายที่มีภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยอาจช็อก หมดสติ ไตวายและเสียชีวิตได้
การช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) บ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที
3 ทริคลดเสี่ยงเป็นโรคอาหารเป็นพิษในสภาพอากาศร้อนแบบนี้ได้ โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน
- เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด
- ล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร
- ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนปรุงประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก
- ในส่วนอาหารที่ปรุงไว้นานแล้ว ควรนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน
- หากอาหารมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทาน
นอกจากจะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำแล้ว ยังเป็นการลดความกังวลต่อการติดเชื้อของโรคโควิด- 19 ได้ด้วย ไม่ว่าจะยังไงด้วยสภาพอากาศร้อนแบบนี้ การเลือกรับประทานอาหารต้องระมัดระวัง และอย่าลืมนำ 3 ทริคดี ๆ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันกันด้วยนะ
ข้อมูล : กรมควบคุมโรค