รีเซต

ทำไมการสักจึงเป็นงานที่ผิดกฎหมายในเกาหลีใต้

ทำไมการสักจึงเป็นงานที่ผิดกฎหมายในเกาหลีใต้
ข่าวสด
16 มกราคม 2565 ( 12:25 )
94
ทำไมการสักจึงเป็นงานที่ผิดกฎหมายในเกาหลีใต้

 

เขาเป็นหนึ่งในศิลปินสักที่โด่งดังที่สุดของเกาหลีใต้ และเคยสักให้กับคนดังในวงการฮอลลีวูดมาแล้วหลายคนอย่าง แบรด พิตต์, ลิลี คอลลินส์ และสตีเวน ยอน

 

แต่เมื่อเดือนนี่แล้ว ดอย ต้องขึ้นศาลในกรุงโซล เพราะการที่ทำงานสัก

 

หลังจากที่คลิปวิดีโอที่เขาสักให้กับนักแสดงหญิงเกาหลียอดนิยมคนหนึ่งกลายเป็นไวรัล ดอยถูกตัดสินว่า กระทำผิดกฎหมายการแพทย์และถูกปรับ 5 ล้านวอน (ประมาณ 1.4 แสนบาท)

 

คดีที่ถูกโจษจันนี้ทำให้ผู้คนในเกาหลีใต้หันมาสนใจกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการสักอีกครั้ง และพื้นที่สีเทาที่ช่างสักทำงานอยู่

 

"ตอนผมอยู่ต่างประเทศ ทำงานกับคนดัง ๆ อย่างแบรด พิตต์ ผู้คนเรียกผมว่า 'ศิลปิน'" ดอย ซึ่งมีชื่อจริงว่า โด ยุน คิม กล่าวกับบีบีซี

"แต่เมื่อผมกลับมาเกาหลี ผมเป็นคนทำผิดกฎหมาย"

 

อาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม

ในอดีต รอยสักมักจะเกี่ยวข้องกับแก๊งอันธพาล หรืออาชญากรรมบนท้องถนนในเกาหลีใต้ และคนที่มีรอยสักเสี่ยงที่จะตกงาน หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

 

จนกระทั่งทุกวันนี้ รอยสักบนร่างกายของนักแสดงก็ยังถูกเบลอทางโทรทัศน์

 

ในปี 1992 ศาลสูงสุดของเกาหลีใต้กำหนดให้การสักเป็นการปฏิบัติทางการแพทย์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อที่มาจากหมึกและเข็มได้

 

นั่นหมายความว่า มีเพียงผู้ที่ทำงานด้านการแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้นที่สามารถสักได้ โดยคนเหล่านี้มีจำนวนไม่มากในเกาหลีใต้ และพวกเขามักจะเป็นแพทย์ที่หันมาทำงานสักหรือสักคิ้วกึ่งถาวร ซึ่งเป็นบริการเสริมความงามที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้หญิงในประเทศ

ในเกาหลีใต้ มีเพียงผู้ที่มีใบอนุญาตทางการแพทย์เท่านั้นที่จะสักได้

 

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้คนจำนวนมากเลิกเป็นศิลปินสัก ไม่มีตัวเลขทางการของศิลปินสักในเกาหลีใต้ แต่จากการวิจัยของสถาบันเกาหลีเพื่อกิจการสาธารณสุขและสังคม (Korea Institute for Health and Social Affairs) ในปี 2019 พบว่า มีช่างสักราว 200,000 คน ในเกาหลี

 

ผู้ที่ถูกจับเผชิญโทษจำคุกอย่างน้อย 2 ปี และปรับขั้นต่ำ 1 ล้านวอน (ประมาณ 27,900 บาท)

 

ช่างสักส่วนใหญ่ทำงานใต้ดิน ในสถานที่ที่เป็นความลับ แต่หลายคนก็ยังโฆษณาอย่างเปิดเผยผ่านทางโซเชียลมีเดีย

 

เจ้าหน้าที่ทางการไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตากวาดล้างสตูดิโอสัก แต่ถ้ามีคนแจ้งความ ตำรวจจำเป็นต้องดำเนินการจัดการกับพวกเขา

 

การทำงานอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำให้ช่างสักเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่และแสวงหาประโยชน์จากลูกค้าที่ไม่ดี มีลูกค้าหลายคนที่ไม่ยอมจ่ายค่าสัก และขู่ว่าจะแจ้งความตำรวจ

 

ดอย ซึ่งเป็นศิลปินสักมานาน 15 ปี แล้ว กล่าวว่า เขารู้สึกประหม่า ตอนที่เริ่มทำงานนี้ใหม่ ๆ

 

"มีความกลัวว่า จะเจอกับลูกค้าอันธพาล ผมกังวลด้วยว่า ผมจะถูกแจ้งความ เพราะมันผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผมเรียนรู้ที่จะกลั่นกรองลูกค้า แล้วก็สามารถที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยได้" ช่างสักวัย 41 ปีกล่าว

 

เขาได้โพสต์แบบรูปสักที่เขาออกแบบเองทางอินสตาแกรม และสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางแอปพลิเคชันกาเกา (Kakao) เขาอยากจะแสดงให้ชาวเกาหลีใต้เห็นว่า ภาพรอยสักที่เขาออกแบบไม่ได้น่ากลัว ดอยเชี่ยวชาญในการสักรูปที่มีขนาดเล็ก และใช้สีอ่อน และมักจะเป็นรูปพืชและสัตว

 

แม้ว่าจะมีความเสี่ยงหลายอย่าง และตอนนี้ก็มีประวัติอาชญากรรมติดตัวแล้ว แต่ดอยก็ไม่รู้สึกเสียใจที่เขาเลือกทำในสิ่งที่เขาชื่นชอบ

 

"ภาพสักทำให้ช่างสักและลูกค้ามีความสัมพันธ์กันตลอดชีวิต การที่ภาพที่ผมวาดมีความหมายกับใครสักคนทำให้ผมรู้สึกพอใจแล้ว"

 

ลูกค้าที่เขาจดจำได้ดีที่สุดคือ หญิงสาวที่แขนทั้งแขนของเธอถูกไฟไหม้ตอนที่อายุเพียง 1 ขวบเท่านั้น

 

"เธออยากจะใช้รอยสักปกปิดรอยแผลเป็น ผมจึงวาดรูปสักหลายรูปลงบนแขนของเธอ 5 รอบ ต่อมาผมพบว่า เธอได้โพสต์รูปรอยสักเหล่านั้นทางโซเชียลมีเดียของเธอ โดยบอกว่า นี่คือ 'เรื่องที่ดีที่สุดที่ฉันได้ทำ' ในปีนั้น"

 

ภาพจำที่กำลังเปลี่ยนไป

ภาพจำเกี่ยวกับรอยสักบนเรือนร่างในสังคมเกาหลีได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และรอยสักก็กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเรื่อย ๆ และถูกมองว่า เป็นวิธีการสร้างสรรค์และเป็นศิลปะในการแสดงความเป็นตัวเองออกมา

จากการสำรวจในเดือน มิ.ย. 2021 โดยแกลลัพเกาหลี (Gallup Korea) พบว่า หนึ่งในสี่ของชาวเกาหลีใต้เคยรับการสัก รวมถึงการสักคิ้วกึ่งถาวร

ราว 70% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,002 คน เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเบลอภาพรอยสักทางโทรทัศน์

 

ในเดือน มิ.ย. 2021 ริว โฮจอง สมาชิกสภานิติบัญญัติ สนับสนุนร่างกฎหมายที่จะทำให้การสักเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ด้วยการสักรอยสักที่ลบออกได้บนหลังของเธอ

 

ดอยได้ใช้จังหวะที่ทัศนคติของผู้คนในสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในการก่อตั้งสหภาพศิลปินสักขึ้นในปี 2020 โดยหวังว่า จะเป็นก้าวแรกในการทำให้อาชีพนี้กลายเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย

 

จนถึงตอนนี้ มีสมาชิกแล้ว 650 คน ในจำนวนนี้ 8 คนเคยถูกดำเนินคดีในอดีต โดยมี 2 คนที่เคยถูกจำคุกมาแล้ว

 

"ผมอยากให้เพื่อนช่างสักได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย" เขากล่าว "แล้วก็คนที่รับการสักในเกาหลีมีสิทธิในร่างกายของพวกเขา"

 

แต่คนบางส่วนในวงการการแพทย์ยังคงกังวล "การรับการสักหมายถึงการนำสารแปลกปลอมเข้าไปสู่ใต้ผิวหนัง ผ่านเข็มและวิธีการที่รุกล้ำ ดังนั้นจึงไม่ควรได้รับอนุญาตให้เป็นธุรกิจธรรมดาได้ง่าย ๆ" จี ฮวาน ฮวาง ที่ปรึกษาของสมาคมการแพทย์เกาหลี (Korean Medical Association) ซึ่งเป็นองค์กรของแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ กล่าว

 

ดอยโต้แย้งว่า ความกังวลเช่นนั้นสามารถบรรเทาได้

สหภาพของเขาได้กำหนดแนวปฏิบัติที่ถูกสุขอนามัยขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ และได้พยายามที่จะให้การศึกษาแก่คนในวงการสักกว้างขวางมากขึ้นด้วย

 


ดอยบอกว่า การตัดสินของศาลส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรม

 

แต่การรณรงค์ในเรื่องนี้ของเขา อาจจะยุติลงจากคดีความที่เขากำลังเผชิญอยู่ เขากำลังเตรียมตัวอุทธรณ์อยู่ในขณะนี้

 

เขากล่าวว่า คำตัดสินนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้อย่างหนัก

 

"ช่างสักชาวเกาหลีที่มีชื่อเสียงทุกคนกำลังออกจากเกาหลี สตูดิโอใหญ่ ๆ ในต่างประเทศอย่างในนิวยอร์ก หรือ แคนาดา ต้องการตัวพวกเขามาก และกำลังหาช่างสักเก่ง ๆ ไปทำงานด้วย" เขากล่าว

 

"สุดท้ายแล้ว การสักก็เป็นเพียงการวาดภาพ แต่ใช้เรือนร่างของมนุษย์แทนที่จะเป็นผ้าใบ... ช่างสักอุทิศชีวิตให้กับการวาดภาพ แต่พวกเขากลับได้รับประวัติอาชญากรรม โทษจำคุก และชีวิตที่ป่นปี้เป็นการตอบแทน"

 

"ผมแค่อยากจะให้ช่างสักรุ่นใหม่ที่มีความสามารถภูมิใจในงานของตัวเอง และได้ทำงานอย่างอิสระ เหมือนกับคนทำงานในออฟฟิศทั่วไป"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง