ออสการ์ประกาศ "No Zoom " ทำคนบันเทิงปวดหัว ไม่รู้จะเดินทางไปร่วมงานได้อย่างไร?
รอยเตอร์ รายงานว่านโนบายโน ซูม ( No Zoom ) ที่ห้ามบรรดานอมินี หรือผู้ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อะวอร์ดส์ หรือ ออสการ์ครั้งที่ 93 ซึ่งจะมีขึ้นวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายนตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเช้าวันวันจันทร์ที่ 26 เมษายนตามเวลาในไทย ร่วมงานผ่านแอพพลิเคชั่นซูม หรือร่วมงานจากทางไกล กำลังสร้างความปวดหัวแก่ผู้มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายคนที่อาศัยอยู่นอกสหรัฐอเมริกา และผู้ที่กำลังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
รอยเตอร์อ้าง นิตยสารวาไรตี้ และ เว็บ Deadline Hollywood รายงานเมื่อวันที่ 24 มีนาคมว่า ตอนนี้มีนักประชาสัมพันธ์ และผู้บริหารระดับสูงของค่ายหนังได้ร้องทุกข์ไปยังสถาบันวิทยาการและศิลปะภาพยนตร์ หรือ อคาเดมี ผู้จัดงานมอบรางวัลออสการ์ให้รับรู้ถึงปัญหาเรื่องการเดินทาง ค่าใช้จ่าย แล้วยังปัญหาเรื่องการกักตัว ที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้จัดงานออสการ์ห้ามผู้มีชื่อเข้าชิงรางวัลร่วมงานจากทางไกล โดยทีมโปรดิวเซอร์งานประกาศรางวัลออสการ์ เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะไม่มีการใช้ซูม และเชิญชวนให้ผู้มีชื่อเข้าชิงรางวัลเดินทางมาร่วมงานกันในสถานที่จริง ซึ่งปีนี้กำหนดจัดขึ้น 2 สถานที่ ที่ยูเนี่ยน สเตชั่น ในย่านกลางเมืองลอสแองเจลิส และที่โรงละครดอลบี เธียเตอร์ ในย่านฮอลลีวู้ด ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานใหญ่ตามแบบฉบับเดิมของงานออสการ์
รอยเตอร์ กล่าวว่าตอนนี้มีนอมินีอย่างน้อย 9 คน รวมทั้ง เอมเมอรัลด์ เฟนเนลล์ ผู้กำกับ Promising Young Woman และ แครีย์ มัลลิแกน นักแสดงในเรื่องที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะมีการห้ามการเดินทางไปยังต่างประเทศโดยไม่มีเหตุจำเป็นไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม
ขณะที่ตัวแทนของภาพยนตร์จากต่างประเทศ 5 เรื่อง มีภาพยนตร์จากเดนมาร์ก,ฮ่องกง,โรมาเนีย,ตูนิเซีย และ บอสเนีย ก็อาจเจออุปสรรคในการเดินทางเข้าไปยังลอสแองเจลิส แล้วยังมีนักแสดงส่วนหนึ่ง และผู้มีชื่อเข้าชิงรางวัลที่ยังอยู่ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งจำเป็นต้องกักตัวหรืออาศัยอยู่ใน บับเบิล ระหว่างทีมงานและนักแสดง
นอกจากนั้น ผู้เดินทางเข้าไปยังรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริการะหว่างนี้คาดว่าต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน
ขณะที่นิตยสารวาไรตี้มีรายงานด้วยว่า การนัดประชุมในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ ระหว่างอคาเดมี กับผู้บริหารค่ายหนังต่างๆและนักประชาสัมพันธ์ ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
ทั้งนี้ที่ผ่านมา งานประกาศรางวัลใหญ่ต่างๆ ต่างใช้วิธีจัดงานแบบบันทึกเทปไว้ก่อน หรือ การจัดงานแบบเสมือนจริง หรือ ผสมผสานทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกัน แต่ปรากฎว่าต่างได้กระแสตอบรับไม่ดี มีผู้ชมลดฮวบ อย่างเช่นงานประกาศรางวัลโกลเด้น โกลบส์ หรือลูกโลกทองคำ และงานประกาศรางวัลแกรมมี ที่ต่างมีจำนวนผู้ชมน้อยมากในรอบหลายสิบปี