รีเซต

​ศปช. เผยยอดดอยอากาศหนาวเย็น ขอประชาชนรักษาสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง

​ศปช. เผยยอดดอยอากาศหนาวเย็น ขอประชาชนรักษาสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
TNN ช่อง16
12 พฤศจิกายน 2567 ( 12:09 )
13

วันนี้ (12 พ.ย. 67) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศปช. รับทราบการรายงานสถานการณ์เฝ้าติดตามสภาพอากาศโดยหย่อมบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลงทำให้บริเวณภาคเหนือมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 9 - 15 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย

 

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศปช. ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ พายุโซนร้อน “หยินซิ่ง” ที่ซึ่งได้เคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางแล้ว คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ส่วนพายุโซนร้อน “โทราจี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีนและประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 14 - 15 พ.ย. 2567 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ 


พายุทั้งสองนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง และประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง  ขอให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

 

นางสาวศศิกานต์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้ (12 พ.ย.) บริเวณสถานีวัดน้ำ C.2 จ. นครสวรรค์ ปัจจุบันปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,048 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./ว.) และในส่วนของปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาการระบายน้ำอยู่ที่ 691 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./ว.) มีแนวโน้มการระบายน้ำลดลง ซึ่งจะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลับสู่ภาวะปกติทั้งหมด

 

ทางด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานต่อที่ประชุม ศปช. ถึงสถานการณ์น้ำกักเก็บในเขื่อน จะต้องติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวังแหล่งน้ำ จำนวน  24 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 11 แห่ง ภาคกลาง 3 แห่ง ภาคตะวันตก 3 แห่ง ภาคตะวันออก 5 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง

 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดยะลา ทำให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองเบตง ทางด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ลงพื้นที่เข้าสนับสนุนให้การช่วยเหลือประชาชนในบริเวณพื้นที่แล้ว โดยสถานการณ์ปัจจุบันได้คลี่คลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว



ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง