รีเซต

พิษโควิด!ร.ร.เอกชนจ่อปิดเพิ่ม 10% วอนรัฐลดภาษี-ช่วยหาแหล่งเงินกู้

พิษโควิด!ร.ร.เอกชนจ่อปิดเพิ่ม 10% วอนรัฐลดภาษี-ช่วยหาแหล่งเงินกู้
มติชน
8 เมษายน 2563 ( 13:09 )
257
พิษโควิด!ร.ร.เอกชนจ่อปิดเพิ่ม 10% วอนรัฐลดภาษี-ช่วยหาแหล่งเงินกู้
พิษโควิด!ร.ร.เอกชนจ่อปิดเพิ่ม 10% วอนรัฐลดภาษี-ช่วยหาแหล่งเงินกู้

โควิด – นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า จากประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของศธ.ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมนั้น ทำให้โรงเรียนเอกชนปิดเรียนด้วย ซึ่งส่งผลให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งต้องปลดครู หรือลดเงินเดือนครู

ทั้งนี้ตนและผู้แทนจากคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) เข้าพบนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เพื่อหาทางช่วยเหลือครู ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุว่าจะหาทางช่วยเหลือครูเอกชน โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ครูเอกชนเข้ามาลงทะเบียนเข้ารับเงินเยียวยาจากรัฐ จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนก่อน

จากการสำรวจพบว่ามีครูเอกชนทั้งในส่วนของโรงเรียนเอกชน และครูในสังกัดอาชีวศึกษาเอกชน รวมถึงบุคลากรที่เป็นครูจ้างสอนเป็นรายชั่วโมง มีประมาณ 160,000 คน ที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกปลดหรือลดเงินเดือนด้วย เพราะขณะนี้โรงเรียนเอกชนประสบปัญหามาก เนื่องจากไม่สามารถรับนักเรียนใหม่ และไม่ได้รับค่าธรรมเนียมการเรียน อย่างการจ้างครูชาวต่างชาติ มีหลายโรงเรียนที่เลิกจ้างไป เพราะแบกรับภาระไม่ไหว

นายศุภเสฏฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนเอกชน อยากให้รัฐช่วยเหลือ เช่น ลดการชำระภาษีต่างๆ เช่น ภาษีที่ดิน พร้อมกับช่วยหาแหล่งเงินกู้ให้กับโรงเรียน ให้นำมาใช้ในการเตรียมการสอนออนไลน์ต่อไปด้วย ซึ่งทาง ศธ.รับทราบปัญหาและจะหาทางช่วยเหลือต่อไป ซึ่งโรงเรียนเอกชนพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตการที่รัฐบาลกำหนด พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ขอให้รัฐช่วยเหลือด้วย

“ความกังวลเรื่องอื่นๆ พบว่านักเรียนไม่กล้าเข้ามาสมัครเข้าเรียน เพราะอยู่ในช่วงที่พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 บังคับใช้ ทางโรงเรียนจึงจัดสรรการทำงานครูใหม่ เช่น มาอยู่เวรในโรงเรียน 1 วัน และหยุดอีก 5 วัน เป็นต้น และโรงเรียนบางแห่งเตรียมความพร้อมเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งขณะนี้รอความชัดเจนจากรัฐบาลว่าโรงเรียนจะเปิดเทอมได้วันไหน เพื่อให้โรงเรียนวางแผนได้ถูก” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

นายศุภเสฏฐ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางโรงเรียนเอกชน ไม่ต้องการเร่งรัฐบาล เพราะเข้าใจถึงสถานการณ์ช่วงนี้ดี โรงเรียนบางแห่งที่ไม่มีเงินสำรอง อาจจะถึงขั้นต้องปิดตัว และถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ปล่อยไปหลายเดือน โรงเรียนเอกชนอาจจะปิดตัวเพิ่มจากปีที่ผ่านมา 5-10% ทั้งนี้ทุกโรงเรียนพยายามช่วยเหลือกันเพื่อให้เอาตัวรอดให้ได้ ที่สำคัญช่วงนี้มีการย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก นักเรียนต้องย้ายที่อยู่ตามผู้ปกครอง เมื่อนำข้อมูลมาพิจารณาแล้ว คาดว่าภาพรวมนักเรียนของโรงเรียนเอกชนจะลดกว่า 20%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง