‘สุพัฒนพงษ์’ฉายภาพศก. ยันไทยพร้อม‘บูสต์ อัพ’ ลุยขับเคลื่อนโมเดล‘4Ds’
หมายเหตุ – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์มติชนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ และจะกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Boost Up ทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาเรื่อง “Boost Up Thailand 2022” ที่หนังสือพิมพ์มติชนจัดในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง วันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปี 2563 ที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงอย่างชัดเจน ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ความตึงเครียดด้านสาธารณสุขลดลง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเริ่มผ่อนคลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาในหลายประเทศ โดยเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วมีทิศทางการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จึงมีผลให้ทิศทางความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
องค์การการค้าโลก หรือ WTO คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคม ว่าการค้าโลกในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 10.8 สูงขึ้นจากร้อยละ 8 ที่คาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2564 เป็นการส่งสัญญาณการค้าโลกที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ โดยผลดังกล่าวทำให้ความต้องการพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นด้วย
ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกจึงได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2563 และสำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2564 และปี 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคมนี้ ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 5.9 และ 4.9 ตามลำดับ โดยคาดว่าการส่งออกของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงไทยและประเทศในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตตามเป้าหมาย
สำหรับประเทศไทย หลังการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 สิ่งที่รัฐบาลได้ทำในช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลในไตรมาส 4 ปี 2564 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับดีขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มปรับตัวดีขึ้นและจากมาตรการการผ่อนคลายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมของไทยไว้ในทุกด้านมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มาตรการผ่อนคลายต่างๆ มาตรการการเงินการคลังกระตุ้นเพื่อ Boost up ธุรกิจ เชื่อว่าจะทำให้การอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวดีขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้ซักซ้อมการเปิดรับนักท่องเที่ยวของ Phuket Sandbox คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2564 จนถึงปี 2565 จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ 1 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การเปิดประเทศและความร่วมมือจากภาคเอกชนจะส่งผลดีต่อการลงทุนในประเทศและการส่งออกให้เติบโตต่อเนื่อง โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้ว 1,273 โครงการ เป็นเงินลงทุนถึง 520,677 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 1,037 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 216,641 ล้านบาท สะท้อนว่าไทยยังมีเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่
สำหรับการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญของไทยตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2564 ในเดือนกันยายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 15.75 ซึ่งเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และขยายตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เชื่อว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จากสัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าโลก
รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตร้อยละ 4-5 ในปี 2565 หากสถานการณ์โควิด-19 ไม่กลับมารุนแรงขึ้นอีก
ประเทศไทยมีความพร้อมในการ Boost Up เศรษฐกิจ รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมาโดยตลอด เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ ทั้งการพึ่งพาภาคต่างประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากเกินไป การลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีสัดส่วนน้อยต่อ GDP และการสร้างทักษะแรงงานที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการ
ประกอบกับกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ หรือ Mega Trend อาทิ ประชากรที่ทยอยเข้าสู่สังคมสูงวัย สภาพภูมิอากาศที่ผันผวนมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจสู่รูปแบบใหม่ๆ ที่เร่งให้ไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อปิดหลุมรายได้ที่เราพึ่งพิงการท่องเที่ยวในอดีต และสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในอนาคต
สิ่งที่จะทยอยเกิดในปี 2565 คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้าน จะทำให้ไทยโดดเด่นเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภูมิภาคทั้งการค้า การขนส่ง และการลงทุน อาทิ การเตรียมความพร้อมถนนสายสำคัญเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ลาว
ตั้งแต่ปี 2557-2564 รัฐบาลได้ลงทุนใน 165 โครงการ มูลค่ารวม 2.2 ล้านล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และชานเมืองที่ทยอยเปิดให้บริการพร้อม Boost Up เศรษฐกิจไทย
ล่าสุด รัฐบาลประสบความสำเร็จจากการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการรถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟทางไกล
นอกจากนี้ ไทยยังมีความพร้อมในการ Boost Up เศรษฐกิจจากการมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดี พร้อมเข้าสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ในส่วนของภาครัฐเองก็เร่งนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ เกิดเป็นระบบ National Single Window มาใช้กับพิธีการศุลกากรเพื่อให้การบริการนำเข้าและส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ทำให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น
ด้านการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวมูลค่าสูงและความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการประเทศไทย ไทยเราก็สร้างมาตรฐานความปลอดภัย SHA+ เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเรียบร้อยแล้ว
การเปิดประเทศจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และรัฐบาลยังมีมาตรการทางการเงินและการคลังในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ยาวไปจนถึงต้นปี 2565 เพื่อช่วย Boost up เศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคอย่างคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ จนถึงปลายปี 2564 คาดว่าจะอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้กว่า 235,000 ล้านบาท ทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตได้ที่ร้อยละ 0.7-1.2 ตามที่สภาพัฒน์คาดการณ์
ส่วนมาตรการทางการเงิน รัฐบาลช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจผ่านสินเชื่อฟื้นฟู ที่มีสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติแล้วถึง 117,326 ล้านบาท และมีธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือ 37,258 ราย และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่มีสินทรัพย์ที่รับโอนแล้ว 19,843 ล้านบาท (ณ 21 ตุลาคม 2564) และสำหรับรายย่อยที่ยังคงได้รับผลกระทบ สถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) มีมาตรการพักหนี้ โดยพักชำระเงินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกหนี้รายย่อยจนถึงสิ้นปี 2564 รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนพร้อมคว้าโอกาสเมื่อเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้แล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
ที่สำคัญ แนวนโยบายของรัฐที่ชัดเจนจะช่วยให้ภาคเอกชนเห็นทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตัดสินใจลงทุนได้มากขึ้น รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ให้ไทยมีเป้าหมายการผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม
ไทยเราจะมีอุตสาหกรรมใหม่ทั้ง Smart Electronics, Smart Digital และมี Digital Technology มากขึ้น ในขณะที่มีอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เข้มแข็งขึ้น เช่น อาหาร เกษตรแปรรูปจะมีการขยายตัวจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ
หากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเติบโตที่ร้อยละ 4-5 ต่อปีอยู่แล้ว จากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการต่างๆ ที่พร้อม Boost Up เศรษฐกิจตามที่กล่าวมา
อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิด-19 ได้กำหนดกติกาโลกใหม่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสาธารณสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น รัฐบาลจึงจัดเตรียมวัคซีนให้เพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการและการเปิดประเทศ เราจะสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจไม่แน่นอนในอนาคต
นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามเป้าหมาย คือกระแสกติกาโลกเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก เทคโนโลยีดิจิทัล และการแสวงหาประเทศที่ปลอดภัยเพื่อการพำนัก ในเรื่องนี้รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนตาม “โมเดลเศรษฐกิจแบบ 4Ds” ซึ่งสอดคล้องกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ของอังกฤษที่เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจใน 4 มิติ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาคน การลงทุนในพลังงานสะอาด และการ
กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น ซึ่งไทยทำมาก่อนแล้ว ได้แก่
1.การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม ส่งเสริมการเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digitalization โดยไทยเราจะมีอุตสาหกรรมใหม่ ดิจิทัล, EV, Smart Electronics ในขณะที่มีอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เข้มแข็งขึ้น เช่น อาหาร เกษตรแปรรูปจะมีการขยายตัวจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ โดยไทยมีศักยภาพที่พร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G และการขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้ว และมี EECi เป็นศูนย์นวัตกรรมและมหาวิทยาลัยวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ พร้อมกับการพัฒนาคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งได้เปิดกว้างในการรับผู้ที่มีความสามารถและชำนาญการในสาขาที่ยังขาดแคลนให้เข้ามาทำงานในประเทศ
2.การพัฒนาคนให้มีความสามารถและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ หรือ Derisk โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ มีทักษะด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งเสริมให้ไทยเป็นถิ่นฐานที่พำนักของผู้มีฐานะดี ผู้เกษียณระดับสูง และให้ไทยเป็นสำนักงานที่สอง เป็นแหล่งแรงงานคุณภาพที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ต้องการของประเทศมากขึ้น
3.การก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน หรือ Decarbonization โดยการปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการลงทุนในพลังงานสะอาด ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 ถือเป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคนี้
4.การรองรับกระแสการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมเดิม หรือ Decentralization โดยไทยมีระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่และการกระจายความเจริญไปสู่ชานเมือง ส่งผลให้เกิดการสร้างการขยายตัวของเมืองและลดความเหลื่อมล้ำ สามารถสร้างธุรกิจขนาด SMEs ได้มากขึ้นและผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจใหม่ๆ ช่วยสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม
นอกจากนี้ ไทยมีโครงสร้างทางการเงินที่เอื้อต่อการเข้ามาประกอบธุรกิจ จากต้นทุนการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูง มีอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงิน และเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพและแข่งขันได้
สำหรับปัจจัยด้านเงินเฟ้อและราคาน้ำมันโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นก็เป็นผลต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในหลายมิติ ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การค้าและการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในหลายประเทศ คาดว่าสถานการณ์เงินเฟ้อและราคาน้ำมันโลกจะผ่อนคลายลงภายในไตรมาส 2 ของปี 2565 อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้อและราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อคนไทยและภาคธุรกิจมากจนเกินไป
หากมองไปข้างหน้า จุดแข็งสำคัญของไทยคือ การมีโครงสร้างพื้นฐานและแนวนโยบายที่ชัดเจน ทำให้มีความพร้อมที่จะเติบโตในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และพร้อมรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสเติบโตในอนาคตจากฐานและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ไทยมีอยู่เป็นทุนเดิม
หากเปรียบเทียบแผนการฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 ในด้านต่างๆ ของไทยและประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ก็มีทิศทางที่คล้ายคลึงกันในทุกๆ ด้าน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ผ่านการทดสอบครั้งใหญ่ในช่วงโควิด-19 โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลผ่านมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐผ่านแอพพ์ “เป๋าตัง” สะท้อนว่าไทยเรามีความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีเสถียรภาพของการให้บริการมากพอที่จะดูแลผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนได้ ประชาชนเองก็มีประสบการณ์ สามารถต่อยอดสู่ธุรกรรมดิจิทัลใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้ง Digital Currency หรือ Digital Token ที่มีพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรองรับ และได้เปิดให้มีการทำ sandbox แล้ว จึงเห็นได้ว่าสิ่งที่ไทยต้องพร้อม เราพร้อมแล้ว
การเสวนา BOOST UP THAILAND 2022 จัดขึ้นวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชน ก้าวสู่ปีที่ 44 สะท้อนประเทศไทยไปต่อ โดยจัดในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ผ่าน Facebook : Matichon Online, Prachachat, Khaosod YouTube : matichon tv, Matichon Online Line Official : @Matichon Tiktok : @matichononline เวลา 09.00-12.00 น.
การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Boost Up ทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย” จากนั้น นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษ เรื่อง “พลิกธุรกิจ สู้เศรษฐกิจหลังโควิด” ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) สนทนาพิเศษเรื่อง “มุมมองเอกชน…อนาคตธุรกิจ 2022” มี นายสรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์และพิธีกรชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ
หลังจากการสนทนาพิเศษจบลง มีการเสวนาเรื่อง “เดินหน้า ทะลุโจทย์ประเทศ 2022” ต่อ โดยมี นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนา มี นายบัญชา ชุมชัยเวทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ