รีเซต

รัสเซีย-ยูเครน : วิถีการทูตจะสยบวิกฤตได้หรือไม่

รัสเซีย-ยูเครน : วิถีการทูตจะสยบวิกฤตได้หรือไม่
ข่าวสด
13 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:14 )
101

เพียงแค่คิดว่าจะเกิดสงครามที่ยูเครน ก็น่าสะพรึงกลัวแล้ว เพราะหากรัสเซียรุกรานยูเครนจริง ผู้คนจะต้องล้มตาย และหนีภัยกันอีกจำนวนมาก การเจรจาทางการทูตจะเป็นทางเลี่ยงไม่ให้เกิดสงคราม และการรอมชอมใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นย่อมเป็นสิ่งที่มีราคาค่างวด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคุ้มค่าที่จะลองแสวงหาทางออกเพื่อไม่ให้เสียเลือดเนื้อ และนี่คือวิถีทางที่เป็นไปได้

 

ชาติตะวันตกโน้มน้าวให้ปูตินยอมถอย

ภายใต้แนวทางนี้ ชาติตะวันตกสามารถยับยั้งรัสเซียไม่ให้รุกรานยูเครนได้ด้วยการโน้มน้าว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ให้คิดถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตาย ถูกคว่ำบาตร และถูกเอาคืนทางการทูต ที่รังแต่จะส่งผลเสียหายต่อรัสเซียมากกว่าผลที่จะได้จากการทำสงคราม

 

นายปูติน จะต้องคอยหวาดระแวงว่าถึงอย่างไรชาติตะวันตกก็อาจสนับสนุนยูเครน และเขาเองต้องจมปลักอยู่กับสงครามที่มีต้นทุนสูงนี้ต่อไปอีกนานหลายปี ทั้งยังต้องยอมรับว่าแรงหนุนจากคนในประเทศจะลดน้อยลง และนั่นก็สั่นคลอนสถานะความเป็นผู้นำของเขา

 

ในอีกด้านหนึ่ง หากนายปูตินยอมทำตามแนวทางนี้ ชาติตะวันตกก็จะต้องปล่อยให้นายปูตินเป็นฝ่ายได้ชัยชนะในทางการทูต ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่รักสันติ ไม่ต้องการตอบโต้ทางการทหารแม้จะถูกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตยั่วยุ และรัสเซียก็จะใช้โอกาสนี้เตือนให้โลกได้รับรู้ว่ารัสเซียคือชาติที่ทรงพลัง ทั้งจะรุกคืบเข้าไปในเบราลุสมากยิ่งขึ้น

 

การกระทำของเขาจะทำให้ชาติตะวันตกร่วมมือกันมากขึ้น นาโตจะเคลื่อนกำลังเข้าใกล้ชายแดนรัสเซีย และยังจะกระตุ้นให้ฟินแลนด์และสวีเดน พิจารณาร่วมเป็นสมาชิกนาโต

 

ที่มาของภาพ, RUSSIAN DEFENCE MINISTRY

 

แต่ปัญหาติดอยู่ที่ว่าหากนายปูติน ต้องการขยายอำนาจเข้าไปในยูเครนและทำให้นาโตอ่อนแอลง แล้วทำไมเขาถึงต้องยอมถอย

 

นาโต-รัสเซีย ทำความตกลงด้านความมั่นคง

มหาอำนาจตะวันตกบอกชัดว่าจะไม่ยอมประนีประนอมในหลักการสำคัญ อย่างการรุกรานอำนาจอธิปไตยของยูเครน ที่มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกนาโต แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งสหรัฐฯ และนาโต ยอมรับว่าในแง่ความมั่นคงของยุโรปแล้ว น่าจะมีประเด็นที่เห็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งรวมถึงข้อตกลงควบคุมอาวุธ เพื่อลดจำนวนขีปนาวุธของทั้งสองฝ่าย ดำเนินมาตรการที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันระหว่างกองกำลังรัสเซียและนาโต สร้างความโปร่งใสทั้งในแง่ที่ตั้งขีปนาวุธและการซ้อมรบ เป็นต้น

 

ที่ผ่านมา รัสเซียระบุชัดว่าประเด็นข้างต้นไม่เพียงพอที่จะทำให้คลายกังวลเรื่องยูเครนจะเข้าร่วมนาโต รัสเซียมองว่าสิ่งนี้เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่หากว่านาโตลดจำนวนขีปนาวุธลง ก็อาจทำให้รัสเซียเบาใจลงได้บ้าง

 

ซึ่งในแง่หนึ่งถือได้ว่านายปูตินเป็นฝ่ายได้ เพราะยุโรปยอมหันหน้ามาเจรจาเรื่องความมั่นคงตามเงื่อนไขที่รัสเซียต้องการ

 

ยูเครน-รัสเซีย ทบทวนข้อตกลงสันติภาพมินสก์

ข้อตกลงที่มีการเจรจากันที่กรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส ในช่วงปี 2014-2015 มีขึ้นเพื่อยุติการสู้รบระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังซึ่งปฏิบัติการอยู่ทางตะวันออกของยูเครน

 

ชัดเจนว่าข้อตกลงนี้ล้มเหลว เพราะการสู้รบยังดำเนินอยู่ แต่อย่างน้อย ๆ ก็เปิดทางที่จะนำไปสู่การหยุดยิงและหันหน้ามาตกลงกัน

 

นักการเมืองของชาติตะวันตกหลายคนเสนอให้ทบทวนข้อตกลงสันติภาพมินสก์ แต่ปัญหาคือว่าข้อตกลงนี้ทั้งซับซ้อนและเต็มไปด้วยข้อโต้แย้ง รัสเซียนั้นต้องการให้ยูเครนจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่สนับสนุนรัสเซียได้รับเลือกตั้งเข้ามา ส่วนยูเครนต้องการให้รัสเซียยอมถอนกำลังออกไป แต่ข้อโต้แย้งใหญ่ที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคดอนบัสทางตะวันออก ที่ยูเครนเห็นว่าอาจปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง แต่รัสเซียต้องการเห็นภูมิภาคนี้กำหนดนโยบายต่างประเทศของตัวเอง และมีสิทธิยับยั้งการเข้าเป็นสมาชิกนาโต

 

จุดนี้นี่เองที่ยูเครนเกรงกว่าการทบทวนข้อตกลงสันติภาพมินสก์จะเป็นทางลัดปัดโอกาสไม่ให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโตโดยที่นาโตเองไม่มีสิทธิมีเสียงใด ๆ

 

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่ายูเครนเองคงไม่รับแนวทางนี้

 

ยูเครนเป็นประเทศที่เป็นกลางเหมือนฟินแลนด์

ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นมาแล้วที่ฟินแลนด์วางตัวเป็นกลาง เป็นประเทศอิสระ มีอำนาจอธิปไตย และยึดหลักการประชาธิปไตย แต่ฟินแลนด์ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต

 

ในทางทฤษฎีแล้ว รัสเซียน่าจะพอใจหากยูเครนจะเดินตามรอยฟินแลนด์ แต่สำหรับยูเครนเองแล้วแม้แนวทางนี้จะช่วยให้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหาร แต่ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้รัสเซียเข้ามามีอิทธิพล และยังส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สนับสนุนการรวมตัวของกลุ่มยูโร-แอตแลนติก ที่สำคัญยังทำให้โอกาสที่จะได้ร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปห่างไกลออกไปอีก

 

ความขัดแย้งอาจกลายเป็นสภาพการณ์ที่คงอยู่

มีความเป็นไปได้ไหมที่การเผชิญหน้าจะยืดเยื้อยาวนาน แต่ลดความตึงเครียดลง

 

รัสเซียอาจจะค่อย ๆ ถอนทหารออกไป โดยอ้างว่าการซ้อมรบเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่คงอาวุธยุทโธปกรณ์เอาไว้ เผื่อว่ามีความจำเป็นต้องใช้ในอนาคต นอกจากนี้รัสเซียยังอาจสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบัสอยู่ต่อไป ในเวลาเดียวกันสภาพเศรษฐกิจและการเมืองของยูเครนก็จะอ่อนแอไปเรื่อย ๆ ส่วนชาติตะวันตกและนาโต จะยังเสริมกำลังในยุโรปตะวันออก บรรดานักการเมืองและนักการทูตก็จะเจรจากับรัสเซียต่อไปโดยไม่มีอะไรคืบหน้า

 

ปัญหาของยูเครนจะยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่อย่างน้อยก็จะไม่เกิดสงครามเต็มรูปแบบ และความสนใจในความขัดแย้งนี้ก็ค่อย ๆ หายไปจากหน้ากระดานข่าว

 

แนวทางทั้งหมดข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบรรลุ เพราะต้องอาศัยการประนีประนอม และยูเครนเกรงว่าตัวเองจะต้องเป็นฝ่ายยอมมากที่สุด อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เป็นความหวังในเวลานี้คือดูเหมือนว่าทุกฝ่ายพร้อมที่จะเจรจาแม้จะไม่เกิดผลเท่าไหร่ แต่หากทุกฝ่ายยังพูดคุยกันได้นานเท่าไหร่ ก็ช่วยให้ประตูทางการทูตยังไม่ถูกปิดตาย แม้จะแค่แง้ม ๆ เอาไว้ก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง