รีเซต

นายกฯ สอบผ่านเวทีโลก เลขาธิการยูเอ็นชมสร้างสรรค์

นายกฯ สอบผ่านเวทีโลก  เลขาธิการยูเอ็นชมสร้างสรรค์
TNN ช่อง16
23 กันยายน 2566 ( 11:57 )
130

    ตลอดระยะเวลา 4 วัน ที่ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา  ทวีสิน นำคณะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เราได้เห็นบทบาทของผู้นำไทย ในหลายเวที ทั้งการพบหารือทวิภาคีกับผู้นำหลายชาติ รวมถึง การพบหารือกับบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ แต่ที่เป็นไฮไลท์ คือ การหารือกับ  “อีลอน มัสก์” ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ และซีอีโอของบริษัทเทสลา ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จ และร่ำรวยที่สุดในโลก  ซึ่งมุมมองทั้งสองฝ่าย ต่างเห็นตรงกัน และชื่นชมความก้าวหน้าที่ต้องการทำเพื่อมนุษยชาติ  ซึ่งการพบกันครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อประเทศไทย และทั่วโลก  ขณะที่ “มัสก์” ได้ตอบกลับข้อความดังกล่าวของนายเศรษฐา ผ่านแอคเคาต์ x ส่วนตัว ว่า “เป็นเกียรติอย่างมากที่ได้พบ ประเทศไทยมีอนาคตที่น่าตื่นเต้นมาก!”



    แน่นอนว่า การเข้าร่วมประชุมเวที UNGA78 ในครั้งนี้ ถือเป็นการทำหน้าที่ผู้นำไทยในเวทีระดับโลกเป็นครั้งแรก ซึ่งเจ้าตัวค่อนข้างพอใจ เพราะได้มีโอกาสนำเสนอความเห็นในหลากหลายเวที โดยเฉพาะ การกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป UNGA78  ในหัวข้อ Rebuilding trust and reigniting global solidarity: Accelerating Action on the 2030 Agenda and its Sustainable Development Goals towards peace, prosperity, 

progress and sustainability for all ซึ่ง ผู้นำของไทย  ย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับประชาคมโลก เพื่อส่งเสริมสันติภาพโลก สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เพื่ออนาคตร่วมกัน (Investing in peace, people, and planet for our common future) 



นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และกำลังเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐธรรมนูญและค่านิยมประชาธิปไตย  ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ  ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) และไทยพร้อมรับมือกับความท้าทายในระดับโลก ทั้งการเสริมสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโลก การและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในระดับพหุภาคีจากประชาคมระหว่างประเทศ



ด้านการเสริมสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรีของไทย ชื่นชมความมุ่งมั่นของสหประชาชาติในเรื่องวาระใหม่เพื่อสันติภาพ (New Agenda for Peace) ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการฟื้นฟูความร่วมมือระดับพหุภาคี และส่งเสริมบทบาทของสหประชาชาติในการเสริมสร้างสันติภาพให้กับโลก พร้อมขอให้ทุกฝ่ายวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชน ผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องครอบคลุม ยืดหยุ่น และมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ โดยไทยมีความมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน ในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพโลก



ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ โดยเสริมสร้างความเท่าเทียมและความยุติธรรมให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง และคนชายขอบ ผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้กฎหมาย และเพิ่มความโปร่งใสในรัฐบาล  ทั้งนี้ประเทศไทยในฐานะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศ และทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริมการทำงานของ HRC ให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับความท้าทาย 



ซึ่งในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เชิญชวนทุกฝ่ายกระชับความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน  พร้อมหวังว่าการประชุมครั้งสำคัญอย่าง “Summit of the Future” ในปีหน้า จะเป็นกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่สำคัญของสหประชาชาติในการเสริมสร้างสันติภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การแสดงบทบาทผู้นำไทยในเวทีโลก ของนายกฯ เศรษฐา เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ ประเทศเผชิญผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ  ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการเชิญชวนให้นักธุรกิจต่างชาติสนใจมาร่วมทุนในประเทศไทย  ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  โดยภารกิจในช่วง 4 วันที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวแรกในการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า ประเทศไทยพร้อมเปิดรับการลงทุน 2 ทาง ทั้งต่างชาติเข้ามาลงในไทย และไทยไปลงทุนต่างประเทศ 



แต่ที่น่ายินดีไปกว่านั้นคือ เสียงจาก นายอันโตนิอู กุแตเรช (H.E. Mr. António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ที่ชื่นชมบทบาทนายกรัฐมนตรีของไทยในเวทีระหว่างประเทศ  โดยมองว่า 

ได้นำเสนอความเห็นอย่างสร้างสรรค์ในการประชุมระดับผู้นำ Climate Ambition Summit ซึ่งไทยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 38 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศ  พร้อมขอบคุณความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ไทยมีต่อยูเอ็น และยืนยันถึงการให้ความสำคัญกับไทยในฐานะเป็นที่ตั้งของสำนักงานยูเอ็นในภูมิภาคนี้



นี่เป็นเพียงก้าวแรกของ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา  ทวีสิน กับการแสดงบทบาทในเวทีโลก ซึ่งหลายฝ่ายให้คะแนน “สอบผ่าน” นับจากนี้ต้องรอติดตามว่า แต่ละข้อเสนอจะนำไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผลเป็นรูปธรรม และได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกหรือไม่



เรียบเรียงโดย  ปุลญดา  บัวคณิศร 

   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง