จีนครองห่วงโซอุปทาน 80% กลายเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานแสงอาทิตย์
ตลอดปี 2023 จีนทุ่มเงิน 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.65 ล้านล้านบาท ให้กับอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้กลายเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานพลังงานแสงอาทิตย์อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านพลังงานอย่างวู้ด แม็คเคนซี่ (Wood Mackenzie) รายงานว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตโพลีซิลิคอน (ชื่อเต็มคือ ซิลิคอนโพลีคริสตัลไลน์ เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตโซลาร์เซลล์) , เวเฟอร์ (แผ่นบาง ๆ ตัดจากโพลีซิลิคอน) , เซลล์ (ส่วนประกอบพื้นฐานของแผงโซลาร์เซลล์ ทำหน้าที่แปลงแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้า) และโมดูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 80% ของโลก ระหว่างปี 2023 - 2026 นี้ อีกทั้งยังรายงานเพิ่มเติมว่าจะภายในปี 2024 จะมีการเพิ่มความจุของเวเฟอร์ เซลล์ และโมดูล มากถึง 1 เทราวัตต์ (TW) ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการพลังงานแสงอาทิตย์ในทศวรรษหน้า
ห้วยหยาน ซัน (Huaiyan Sun) ที่ปรึกษาอาวุโสของวู้ด แม็คเคนซี่และเป็นผู้เขียนรายงานกล่าวว่า การเติบโตด้านการผลิตของจีนนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งอัตรากำไรที่ได้จากโพลีซิลิคอน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงการก่อตั้งโรงงานผลิตในท้องถิ่นของประเทศอื่น ๆ ซันยังคาดการณ์เพิ่มเติมว่าจีนจะรักษาตำแหน่งผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์นี้ได้ และจะยกระดับเทคโนโลยี รวมถึงความได้เปรียบด้านต้นทุนให้เหนือกว่าคู่แข่งได้
ซึ่งข้อได้เปรียบของจีนเองก็คือมีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ใช้ตุ้นทุนต่ำ และผลิตสินค้าได้ครบวงจร ล่าสุดได้มีการประกาศแผนที่จะสร้างเซลล์ไทป์-เอ็น (N-Type Cell) ความจุ 1,000 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีถัดมาจากรุ่นก่อนหน้าอย่างเซลล์ไทป์-พี (P-Type Cell)
ในประเทศอื่น ๆ ก็มีการพัฒนาอุปทานด้านพลังงานแสงอาทิตย์เช่นกัน แต่ยังคงต้องแข่งขันด้านต้นทุนกับผลิคภัณฑ์ของจีน ซึ่งโมดูลที่ผลิตในจีนถูกกว่าโมดูลที่ผลิตในยุโรปประมาณครึ่งหนึ่ง และถูกกว่าที่ผลิตในสหรัฐฯ ประมาณ 2 - 3 เท่า
แต่ทั้งนี้ยังมีความท้าทายอยู่บ้าง คือมีปัญหาอุปทานล้นตลาด รวมถึงมีการแข่งขันสูง ซึ่งทำให้จีนยกเลิกแผนการขยายบางส่วนบ้างแล้ว แต่รายงานจากวู้ด แม็คเคนซี่ชี้ว่าปัญหาอุปทานล้นตลาดส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์รุ่นเก่าอย่างเซลล์ไทป์-พี ที่คาดว่าจะมีความต้องการเพียง 17% ภายในปี 2026
ที่มาข้อมูล Interestingengineering
ที่มารูปภาพ Reuters