กรม อ. ร่วมกับ กรม สถ. หนุน อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพึง
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มอบเกียรติบัตรให้อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น รุ่นที่ 1 - 4 ที่ผ่านการอบรมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่จังหวัดนครปฐม สร้างสุขภาพดีให้ผู้สูงอายุทั้ง 4 มิติ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม
วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2563) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอนามัย เป็นประธานร่วมกับนายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ประจำปี 2563 รุ่นที่ 1- 4 ของจังหวัดนครปฐม ณ สำนักงานเทศบาลนครปฐม จังหวัดนครปฐม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครปฐม ได้จัดอบรมโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 4 รุ่น มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 205 คน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้และทักษะปฏิบัติงานในการช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ให้มีสุขภาพดีพื้นฐาน 4 มิติ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม ตลอดจนปลอดภัยจากโรคโควิด 19 ลดปัญหาทางด้านสาธารณสุข สังคม และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ สำหรับในปีงบประมาณ 2564 นี้ กรมอนามัยยังคงดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดอบรมอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาคู่มือแนวทางและสนับสนุนให้มีการดำเนินงานพื้นที่ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะกลางในชุมชน (Intermediate Care in Community) เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ในพื้นที่เป้าหมายที่มีการดำเนินงานตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 95 และร้อยละ 85 ของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลตาม Care Plan
“ทั้งนี้ การดำเนินการในระยะต่อไป กรมอนามัยได้เร่งขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อรองรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการปฏิบัติงานและจัดทำหลักสูตรการอบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) รวมถึงหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) 70 ชั่วโมงและ 420 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้มีผู้ผ่านการอบรมและปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เป็น Care Manager จำนวน 13,615 คน Caregiver จำนวน 86,404 คน และได้ขยายความครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและประชาชน ทุกกลุ่มวัยที่มีภาวะพึ่งพิงให้เข้าถึงระบบการดูแลส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาและการเข้าถึงหน่วยบริการ โดยเฉพาะบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และบริการฟื้นฟูสุขภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ สำหรับระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) เน้นบูรณาการ ด้านการจัดบริการทางด้านสาธารณสุขและสังคม โดยให้ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริการสาธารณสุขและสังคมมากขึ้น” รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 9 พฤศจิกายน 2563