รีเซต

จอมพล ป.พิบูลสงคราม : 123 ปี ชาตกาล กับผลงานและเสียงวิจารณ์นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด

จอมพล ป.พิบูลสงคราม : 123 ปี ชาตกาล กับผลงานและเสียงวิจารณ์นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด
บีบีซี ไทย
14 กรกฎาคม 2563 ( 08:59 )
585

"ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้ " คำอภิปรายของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) นายกรัฐมนตรี ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวแก่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พ.ศ. 2483 เมื่อ 15 ส.ค. 2483 เป็นอมตะวาจาที่อาจนับได้ว่าร่วมสมัยกับปัจจุบันอย่างยิ่ง

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งต่อมาขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการทหารในระดับจอมพล และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ รวม 2 ช่วง 15 ปี กล่าวไว้ในช่วงที่เขาเป็นนายกฯ สมัยแรกและอยู่ระหว่างขับเคลื่อนการสร้างชาติตามสไตล์นายทหารผู้นำชาตินิยม

ข้อถกเถียงในความเป็น "ขาว" และ "ดำ" ของจอมพลแปลกมีอยู่หลายเรื่อง แม้ปรากฏตัวบนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะสมาชิกคณะราษฎร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากมักจะมีภาพของจอมพลผู้นี้ใน "เชิงลบ" เป็นเผด็จการ ทหารนิยม ผลิตนโยบายทางวัฒนธรรมที่ไร้เหตุผลอย่างการบังคับให้ประชาชนเลิกกินหมาก ใส่หมวก ในยุคสร้างชาติ

ทว่าจากงานศึกษาของ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 ได้เผยให้เห็นมิติที่ลึกขึ้นของการสร้างชาติในสมัยนั้นที่นับเนื่องเป็นแผนการสร้างชาติไทยของคณะราษฎร และปรากฏชัดในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

"การศึกษาที่ผ่านมาที่มองยุคสมัยจอมพล ป.เป็นนายกฯ นั้น มีลักษณะเป็นความคลั่งชาติ มันเป็นการมองด้านเดียว เพราะจริง ๆ แล้วนโยบายการสร้างชาติสมัยจอมพล ป. มีอยู่หลายมิติ" ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวกับบีบีซีไทย

แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎรกับ "เจแปนโมเดล"

หากเอ่ยถึงการสร้างชาติ รัฐนิยม ความทรงจำของคนทั่วไปน่าจะนึกถึงจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นอันดับแรก ส่วนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์หลัง 2475 ก็มีเพียงกรณีของ "เค้าโครงเศรษฐกิจ" ของนายปรีดี พนมยงค์ เท่านั้นที่ถูกบันทึกไว้

แต่ภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรโดยปีกทหาร คือ จอมพล ป. นำกำลังปราบปรามฝ่ายอนุรักษ์นิยม เหตุการณ์รัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มิ.ย.2476 และกบฏบวรเดช ต.ค. 2476 ทำให้การเมืองหลังจากนั้นมีเสถียรภาพมากขึ้น ผศ.ดร.ณัฐพลบอกว่า "เมื่อการเมืองมีเสถียรภาพแล้ว พวกเขา (คณะราษฎร) ก็เดินหน้าสร้างชาติ"

ในหนังสือ "ตามรอยอุทิศอุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร" ของ ผศ.ดร.ณัฐพลชี้ว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ เริ่มเกิดกระแสชื่นชมในความก้าวหน้าของญี่ปุ่น สามัญชน ปัญญาชน และนักปฏิวัติ มองญี่ปุ่นในฐานะผู้นำใหม่ในเอเชีย และต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวหน้าโดยมีญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ

หลายคนในกลุ่มนี้เป็นสมาชิกคณะ ร.ศ.130 ที่ล้มเหลวในการทำรัฐประหารมื่อปี 2455 แต่ได้มาร่วมสนับสนุนคณะราษฎรในการปฏิวัติ 2475 และได้เป็น ส.ส.ชุดแรก กลุ่มผู้นำใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 เช่น หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งนิยมญี่ปุ่น ได้ขึ้นมามีบทบาทในการเสนอความคิดในการพัฒนาประเทศให้กับคณะราษฎร

ผศ.ดร.ณัฐพลชี้ให้เห็นเหตุผลที่เวลานั้นกลุ่มผู้นำใหม่เลือกญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ เนื่องจากญี่ปุ่นเริ่มก้าวขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เอาชนะกองกำลังของคนผิวขาวรัสเซีย อีกทั้งแนวทางการพัฒนาของระบอบเก่าที่ปล่อยให้พ่อค้าตะวันตก พ่อค้าชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยค่อนข้างมาก "ทำให้คนไทยเป็นเพียงชาวนา เกษตรกร และข้าราชการเป็นหลัก ดูเหมือนว่าเราเป็นเบี้ยล่างตลอดเวลา"

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้เปลี่ยนวิถีการมองเรื่องการพัฒนาใหม่

"ญี่ปุ่นเป็นตัวแบบที่เป็นกึ่งกลางระหว่างประเทศพัฒนาแล้วอย่างตะวันตก กับประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย ญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาก่อน แต่ว่าพัฒนาประเทศเข้าใกล้ประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยที่สำคัญก็คือสามารถรักษาความเป็นตัวตนไว้ได้ จากบันทึกของคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นหลายครั้งบอกว่า แม้ว่าออกมาทำงานนอกบ้านแต่งสูท แต่พอกลับไปบ้านก็แต่งชุดแบบญี่ปุ่น สิ่งนี้ทำให้ผู้นำชาตินิยมอย่างคณะราษฎร รู้สึกว่าทำไมญี่ปุ่นทำได้ สามารถรักษาทั้งสองสิ่งไว้ได้ เจริญแบบตะวันตก แต่ตัวตนยังเป็นแบบเรา นี่คือสิ่งที่ผู้นำชาตินิยมแบบคณะราษฎรคิด"

งานศึกษาของ ผศ.ดร.ณัฐพล ได้บันทึกไว้ด้วยว่าในปี 2477 คณะราษฎรได้เดินทางไปดูงานที่ 4 เมืองใหญ่ในญี่ปุ่น เป็นการศึกษาดูงานในกิจการโรงงานอุตสาหกรรมหลายสิบแห่ง รวมทั้งกิจการเชิงพาณิชย์ กิจการหนังสือพิมพ์ สถานศึกษา หน่วยงานราชการ พิพิธภัณฑ์ ในระยะต่อมาไทยและญี่ปุ่นก็ขยายความร่วมมือไปทางด้านการทหาร มีการนำเข้าวิทยาการเรือดำน้ำ การเดินเรือพาณิชย์นาวี การต่อเครื่องบิน และส่งนักเรียนทางการทหารไทยไปศึกษาวิชาการทหารที่ญี่ปุ่นหลายชุด

คลั่งชาติ ทหารนิยม รัฐนิยมอันน่าขบขัน ?

ผศ.ดร.ณัฐพลชี้ว่าการพัฒนาประเทศสมัยคณะราษฎร เริ่มขึ้นในช่วงรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (2476-2481) ต่อมาปรากฏในฐานะนโยบาย "สร้างชาติ" ในรัฐบาลจอมพล ป. อันมีสาระสำคัญ 3 ด้าน คือ การสร้างชาติทางเศรษฐกิจ การสร้างชาติทางวัฒนธรรม และการสร้างชาติทางการทหาร แต่ส่วนใหญ่การสร้างชาติตอนนั้น มักถูกมองเฉพาะเรื่องการทหารและวัฒนธรรม ส่วนวัฒนธรรมก็จะมองในเชิงการบังคับ เช่น ให้ใส่หมวกหรือห้ามกินหมาก

นักวิชาการประวัติศาสตร์อธิบายความหมายที่ยึดโยงระหว่างการสร้าง "ชาติ" และ "ประชาชน" ซึ่งต้องมี "วิถีชีวิตใหม่" ที่ถูกกำหนดตามรัฐนิยมว่า เพราะชาติเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในทัศนะของจอมพล ป. และ "ชาติคือประชาชน"

มรดกการสร้างชาติทางวัฒนธรรมและการศึกษายุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการศึกษาของ ผศ.ดร.ณัฐพล ได้แก่

  • การกินอาหาร ร่างกายของพลเมืองที่แข็งแรงจะทำให้ชาติเข้มแข็ง "การกินอาหารก่อนหน้านี้ คนไทยบอกเสมอว่าอย่ากินกับเยอะ เพราะจะเป็นตานขโมย ดังนั้น คนไทยก็จะตัวเล็ก ประเทศชาติจะเข้มแข็ง ประชากรจะเข้มแข็งได้อย่างไร เวลาไปรบ เราต้องตัวใหญ่ เราต้องกินข้าวที่ดี ต้องกินอาหารที่โปรตีนเยอะ ดังนั้น จอมพล ป. ได้ส่งเสริมการกินอาหารแบบใหม่ กินข้าวน้อย ๆ กินกับเยอะ ๆ ให้กินเนื้อสัตว์ ให้เพิ่มโปรตีน ไม่มีเนื้อสัตว์ ถ้าเนื้อสัตว์ เนื้อหมู โคแพง ให้กินไก่ ถ้าไก่แพง ให้กินไข่ ถ้าไข่ยังแพง ให้กินถั่วเหลือง หรือเต้าหู้แทน นี่คือการส่งเสริมให้เกิดร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง"
  • มุ่งมั่นทำงาน "วิถีเดิมของคนไทยเป็นคนขาดความกระตือรือร้น จึงส่งเสริมให้คนขยันทำงาน มีคำขวัญมากมายให้ส่งเสริมการทำงาน รวมทั้งการปรับไปสู่การมีระเบียบวินัย การรู้จักการอยู่ร่วมกันทางสังคม เช่น การแต่งกายเมื่อออกจากเคหะสถาน"
  • กิจกรรมการสร้างชาติ คำว่า "ชาติ" ในความหมายใหม่ หมายถึง ผลรวมของคนทั้งหมดมารวมกัน ประชาชนได้ฟังอาจเข้าใจได้ยาก ดังนั้น ต้องมีกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจ เช่น การสร้างเพลงชาติ ทำให้คนเข้าใจว่าชาติคืออะไร รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการรักชาติ เช่น การสร้างคำขวัญ
  • มรดกทางการศึกษา ส่งเสริมให้สตรีเข้าศึกษามากขึ้น ส่งเสริมการสร้างโรงเรียนไปยังชนบท คือ ร.ร. ประชาบาล ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ โรงเรียนอนุบาลรัฐบาลแห่งแรกของไทย (2482) อันมีต้นแบบจากการที่รัฐมนตรีในรัฐบาลสมัยนั้นศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น

"กอุพากรรม" สร้างชาติด้านเศรษฐกิจ

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาลงทุนที่ไทยมากขึ้น มีทั้งร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรม ธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารโยโกฮามา ธนาคารมิตซุย สะท้อนการเปลี่ยนผ่านว่าญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาแทนที่จักรวรรดิอังกฤษ และอังกฤษก็เริ่มถอยออกไป ญี่ปุ่นจึงเข้ามาแทนเรื่องการเงิน การค้า อุตสาหกรรม ซึ่งในเวลาต่อมารัฐบาลคณะราษฎรได้ส่งบุคลากรตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีจนถึงข้าราชการไปศึกษาจากต้นแบบ

นโยบายเศรษฐกิจสำคัญในสมัยของ จอมพล ป. ซึ่งต่อเนื่องมาจากยุคพระยาพหลฯ คือ สิ่งที่เรียกว่า "กอุพากรรม"

ผศ.ดร.ณัฐพลบรรยายว่า กอุพากรรมเป็นคำย่อมาจากการส่งเสริมด้านกสิกรรม คือ ส่งเสริมให้คนปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ประการที่สอง คือ ส่งเสริมอุตสาหกรรม สุดท้าย "พากรรม" ก็คือ พาณิชยกรรม ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยจอมพล ป. คือส่งเสริม 3 ด้าน คือ การเกษตร อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ซึ่งสัมพันธ์ต่อกัน

"ผลิตแล้วต้องขาย ผลิตแล้วส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมผลิตแล้ว ก็ต้องส่งออกขาย นี่คือสามขาสำคัญ"

ยุคสมัยของจอมพล ป. ยังเกิดกลไกของระบบราชการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการค้าภายใน กรมการค้าระหว่างประเทศ โดย ผศ.ดร.ณัฐพลชี้ว่ากลไกเหล่านี้เป็น "ตัวแบบ" ที่ในเวลาต่อมาถูกเรียกชื่อแบบใหม่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้รับอิทธิพลแบบอเมริกัน

"นี่คือกลไกของรัฐที่จะผลักดันเป้าหมาย แค่ยุคนั้นไม่ได้เรียกแผนพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้นเอง แต่ว่ามีกลไกระดับล่าง มีนโยบาย มีระบบราชการ"

จอมพล ป.-ปรีดี มิตรหรือศัตรู

"มิตรหรือศัตรู ผมรับบางส่วนก็คือมิตร แต่ศัตรูผมขอเปลี่ยนเป็นคู่แข่งทางการเมือง"

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ 2475 มองความสัมพันธ์ในฐานะ "มิตร" ของ จอมพล ป. และปรีดี ว่าเริ่มจากการรู้จักกันในฝรั่งเศสขณะเรียน ก่อนร่วมก่อตั้งคณะราษฎรในกรุงปารีส มุ่งหมายเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

เป็นมิตรในฐานะผู้ร่วมรัฐบาลที่ร่วมมือกันสร้างหลัก 6 ประการให้เกิดขึ้นหลังปฏิวัติ เป็นมิตรในฐานะที่จอมพล ป. นำกำลังกองทัพรัฐประหารโค่นล้มพระยามโนปกรณ์ฯ เพื่อให้ปรีดีคืนสู่การเมือง และเป็นผู้คุมกำลังในการปราบกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับคณะราษฎรในปี 2476

ส่วนความเป็นคู่แข่งทางการเมือง ผศ.ดร. ณัฐพลอธิบายว่า ตอนที่พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ ทั้งสองคนเป็นทั้งมือซ้ายและมือขวา เขามองว่าพระยาพหลฯ ยังไม่ฝากความหวังไว้ให้กับใครคนใด เนื่องจากฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติยังคงใช้กำลังทหารในความพยายามยื้ออำนาจกลับ

"พอพระองค์เจ้าบวรเดชเลือกใช้กองทัพ รัฐบาลคณะราษฎรต้องหนุนใครระหว่างสองปีก ก็หนุนจอมพล ป. เพราะว่าต้องยกกองทัพไปสู้ เมื่อความขัดแย้งจบสิ้นลง ใครชัดเจน กองทัพก็คือจอมพล ป. เป็นผู้นำ สามารถปราบปรามกบฏบวรเดชลงได้ สถานะจอมพล ป. ก็สูงเด่น สภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนจอมพล ป. เป็นนายกฯ ดังนั้น ในด้านหนึ่งก็คือการที่จอมพล ป. ขึ้นมามีบทบาทก็เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมเลือกใช้วิธีการรุนแรงก็ต้องใช้กำลังปราบปรามกลับไป กลุ่มทหารปีกนี้ก็ขึ้นมา"

ความแตกต่างของทั้งคู่เริ่มตั้งแต่อุดมการณ์ทางการเมือง จอมพล ป. มีลักษณะเป็นชาตินิยม ปรีดีเป็นสังคมนิยม แต่ทั้งสองคนมีจุดร่วมอย่างหนึ่งก็คือ ผลประโยชน์ของชาติ ความต่างที่กลายเป็นความขัดแย้งของทั้งคู่ก่อนในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 จอมพล ป. ขึ้นเป็นผู้นำ ส่งผลให้คณะราษฎรแบ่งเป็นสองขั้วระหว่างฝ่ายทหารที่นิยมฝ่ายอักษะ กับฝ่ายพลเรือนที่สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรก่อนพัฒนาเป็นขบวนการเสรีไทยที่นำโดยปรีดี

"ทั้งสองฝ่ายมีคำตอบอยู่ในใจว่าจะประคับประคองประเทศอย่างไร ท่ามกลางสงคราม" ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว "อาจจะโชคดีอยู่เหมือนกันที่เรามีผู้นำที่มีทั้งสองมิติในจังหวะที่เหมาะสม คนหนึ่งปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านได้ อยากไปก็ไป พอสงครามเริ่มเปลี่ยน อีกคนหนึ่งบอกว่าไม่เอาแล้ว หาทางคุยกับตะวันตกดีกว่าว่าเราจะรอดอย่างไร"

จากนักปฏิวัติสู่นักปฏิรูปก่อนตกเวทีอำนาจ

ช่วงชีวิตทางการเมืองของจอมพล ป. ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนลงสู่อำนาจในช่วงแรกตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการนิยามจาก ผศ.ดร.ณัฐพลว่าคือ "นักปฏิวัติ" และมีชีวิตที่สองทางการเมืองในช่วง 2491-2500 ในฐานะ "นักประนีประนอม-นักปฏิรูป" อันเป็นช่วงที่แยกทางเดินกับปรีดี มิตรร่วมก่อการปฏิวัติในคณะราษฎร ก่อนยื้อยุดอำนาจกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมในบริบทการเมืองที่ไม่ได้วางอยู่บนฐานอำนาจของคณะราษฎรแล้ว มีแต่ทหารกลุ่มใหม่กลุ่มจอมพล ผิน ชุณหะวัณ กลุ่มหลวงกาจสงคราม เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ กลุ่มอนุรักษ์นิยม และนักการเมืองอนุรักษ์นิยมอย่างพรรคประชาธิปัตย์

"อำนาจของจอมพล ป. จึงวางอยู่บนการรักษาสมดุลของกลุ่มทหารต่างๆ ตัวเองไม่มีอำนาจอย่างสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น ต้องคอยดุลอำนาจระหว่างคนเหล่านี้"

สถานะ "นักประนีประนอม-นักปฏิรูป" สะท้อนผ่านการการเกิดรัฐธรรมนูญ 2492 ในระหว่างที่เขาเป็นนายกฯ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม" ถวายพระราชอำนาจที่สำคัญหลายกรณี เช่น การมีองคมนตรีแทนอภิรัฐมนตรี กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการเลือก แต่งตั้ง และให้พ้นจากตำแหน่ง ให้ ส.ว. มาจากการเลือกและแต่งตั้งโดยกษัตริย์ ทว่าผศ.ดร.ณัฐพลชี้ว่าในเวลาต่อมา "จอมพล ป. เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่น่าจะนำไปสู่เจตนารมณ์ของการปฏิวัติ (2475) สุดท้ายแล้วก็กลับมาเป็นนักปฏิวัติอีก ก็คือ การรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ในปี 2494"

จอมพล ป. ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ เมื่อปี 2500 ภายหลังเผชิญกับฝ่ายอนุรักษ์ที่เริ่มกลับมาเข้มแข็ง และการแข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจของกองทัพและตำรวจ อันเกิดท่ามกลางบริบทโลกที่สหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ท่ามกลางการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลกรวมทั้งไทย ขณะที่จอมพล ป. พยายามเปิดสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ในทางลับ

"เริ่มต้นจากนักปฏิวัติ ทดลองเป็นนักปฏิรูป แล้วกลับมาเป็นนักปฏิวัติ พอพิบูลฯ จะเริ่มคิดแบบนั้นอเมริกาไม่เอาด้วยแล้ว เพราะอเมริกาต่อต้านคอมมิวนิสต์ อเมริกาต้องการส่งเสริมจารีตประเพณีบางอย่างให้คนไทยหวงแหน ถ้าเสียอันนี้ไปประเทศไทยจะแย่แแน่ ซึ่งอเมริกาไม่เห็นด้วยกับการเป็นนักปฏิวัติของจอมพล ป. แล้ว"

เมื่อถูกปฏิวัติจอมพล ป. ต้องลี้ภัยไปอยู่ญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมในอีก 7 ปี ต่อมา ณ ที่พำนักในกรุงโตเกียว


จอมพล ป.พิบูลสงคราม 2440-2507

2470 ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร

2475 ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง

2476 ผู้นำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม, ผู้บังคับกองผสมปราบกบฏบวรเดช

2481-2487 นายกรัฐมนตรี ช่วงที่หนึ่ง ขณะมีอายุ 41 ปี หลังจากพระยาพหลฯ ปฏิเสธรับตำแหน่ง

2482 เริ่มนโยบายสร้างชาติด้วยการประกาศใช้ "รัฐนิยม" ฉบับแรก

2484 รัฐบาลญี่ปุ่นบุกไทย จอมพล.ป.ประกาศยุติการต่อสู้และยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไทย

2487 ลาออกจากนายกรัฐมนตรี หลัง พ.ร.ก.นครบาลเพชรบูรณ์ เมืองหลวงแห่งใหม่ไม่ผ่านสภา

2488 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม จอมพล ป.ตกเป็นอาชญากรสงคราม

2491-2500 นายกรัฐมนตรี ช่วงที่สอง

2494 จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รัฐประหารตัวเอง ตั้งจอมพล ป.เป็นนายกฯ ต่อ

2498 ตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา ให้กำเนิดการ "ไฮปาร์ค" ในที่สาธารณะ และการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแบบใหม่ที่เรียกว่า "เปรส คอนเฟอเรนซ์"

2500 ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนลี้ภัยการเมืองไปญี่ปุ่น

2507 ถึงแก่อสัญกรรมที่ญี่ปุ่นขณะอายุ 67 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง