'คลื่นความร้อน' ถล่มแคนาดา-สหรัฐฯ ยอดดับพุ่งสูงขึ้น
นิวยอร์ก, 2 ก.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (1 ก.ค.) เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่ารัฐบริติชโคลัมเบียทางตะวันตกของแคนาดา และรัฐวอชิงตันและโอเรกอนของสหรัฐฯ พบผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายจากคลื่นความร้อน ซึ่งแผ่ปกคลุมทั่วทั้งพื้นที่เป็นเวลาหลายวันและทำลายสถิติอากาศร้อนสูงสุดในแคนาดา รวมถึงส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกหลายแสนคน
ลิซา ลาพอยต์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพประจำรัฐบริติชโคลัมเบีย ระบุว่ามีรายงานผู้เสียชีวิตในบริติชโคลัมเบียรวม 486 ราย นับตั้งแต่วันศุกร์ (25 มิ.ย.) ถึงบ่ายวันพุธ (30 มิ.ย.) ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีผู้เสียชีวิตในช่วงเวลานี้เพียงราว 165 ราย พร้อมคาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นอีก
"แม้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดอย่างมั่นใจว่าสาเหตุของการเสียชีวิตเหล่านี้เกี่ยวข้องกับอากาศร้อน แต่มีแนวโน้มว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นมาจากสภาพอากาศเลวร้ายที่รัฐบริติชโคลัมเบียเคยประสบมาก่อนหน้านี้" ลาพอยต์เสริม
ด้านสำนักงานชันสูตรศพแห่งรัฐโอเรกอนของสหรัฐฯ เผยว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 63 ราย ในระยะเวลา 5 วัน เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดในรัฐ ซึ่งรวมถึงเมืองพอร์ตแลนด์ที่เผชิญอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 116 องศาฟาเรนไฮต์ (46 องศาเซลเซียส)
ขณะที่รัฐวอชิงตันรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงเกินไปในเทศมณฑลคิงของเมืองซีแอตเทิล 10 กว่าราย เมื่อวันพุธ (30 มิ.ย.) โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร (29 มิ.ย.) พบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอากาศร้อน 2 ราย
สำนักงานชันสูตรศพแห่งรัฐวอชิงตันยังรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดที่เทศมณฑลสโนโฮมิชในสัปดาห์นี้อย่างน้อย 3 ราย พร้อมเสริมว่ากำลังตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตที่อาจเกี่ยวข้องกับอากาศร้อนอีกอย่างน้อย 2 กรณี
"นี่เป็นวิกฤตด้านสุขภาพอย่างแท้จริงที่ช่วยเตือนใจเราว่าคลื่นความร้อนนั้นร้ายแรงมากเพียงใด โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง" เจนนิเฟอร์ ไวน์ส์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเทศมณฑลมัลท์โนมาห์กล่าว "ฉันรู้ว่าชาวมัลท์โนมาห์หลายคนช่วยดูแลกันและกันมาโดยตลอด และฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตเหล่านี้"
ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญอ้างอิงผลการศึกษาในปีนี้พบว่าร้อยละ 37 ของการเสียชีวิตจากอากาศร้อนอาจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิฐานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 2 องศาฟาเรนไฮต์ นับตั้งแต่ปี 1900
"การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังเพิ่มความถี่ ความรุนแรง และความยาวนานของการเกิดคลื่นความร้อน" คริสตี เอบี ศาสตราจารย์จากศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลกแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าว "หากมองดีๆ จะเห็นว่าคลื่นความร้อนครั้งนี้ผิดปกติมากทีเดียว"
(แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนคลายร้อนที่ชายหาดในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ วันที่ 18 มิ.ย. 2021)
[caption id="attachment_212391" align="aligncenter" width="720"] (แฟ้มภาพซินหัว : เด็กเล่นน้ำคลายร้อนในย่านบรูกลิน นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ วันที่ 29 มิ.ย. 2021)[/caption]