รีเซต

เปิดภาพ "ดาวหางนิชิมูระ" เหนือท้องฟ้าเชียงใหม่ ลุ้น 17 กันยายน สว่างมากขึ้น!

เปิดภาพ "ดาวหางนิชิมูระ" เหนือท้องฟ้าเชียงใหม่ ลุ้น 17 กันยายน สว่างมากขึ้น!
TNN ช่อง16
15 กันยายน 2566 ( 19:42 )
423

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดภาพ "ดาวหางนิชิมูระ" เหนือท้องฟ้าเชียงใหม่ รอลุ้นอีก 17 กันยายน คาดสว่างมากขึ้น

เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า เมื่อช่วงนี้มีดาวหางมาเยือนโลก และทั่วโลกต่างจับตา “ดาวหางนิชิมูระ” (C/2023 P1 Nishimura) กันอยู่ไม่น้อย สำหรับประเทศไทยอยู่ในช่วงมรสุม มีฝนตกหนัก จึงสังเกตได้ค่อนข้างยาก ทั้งชมด้วยตาเปล่า และถ่ายภาพ แต่ NARIT ก็มีโอกาสเก็บภาพดาวหางมาฝากกัน


ภาพนี้บันทึกในช่วงเช้ามืดวันที่ 4 กันยายน 2566 บริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เวลาประมาณ 05:26 น. ใช้เวลาถ่ายรวม 8 นาที วันดังกล่าวดาวหางนิชิมูระปรากฏทางทิศตะวันออก อยู่บริเวณกลุ่มดาวปู (Cancer) และอยู่ใกล้กับดาวศุกร์ เนื่องจากสภาพท้องฟ้ามีเมฆค่อนข้างมาก การบันทึกภาพจึงเริ่มจากหาดาวหางด้วยแอปพลิเคชันดูดาว ใช้กล้องมือถือถ่ายภาพท้องฟ้าบริเวณทิศตะวันออก แล้วซูมหาตำแหน่งของดาวหาง จากนั้นจึงหันกล้องไปยังตำแหน่งดาวหาง พร้อมกับเริ่มถ่ายภาพดาวหางโดยละเอียด สุดท้ายนำมาประมวลด้วยโปรแกรม


สำหรับผู้สนใจถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ ขณะนี้ดาวหางกำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ในวันที่ 17 กันยายน 2566 ที่ระยะห่าง 34 ล้านกิโลเมตร (ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์) คาดการณ์ว่าจะมีความสว่างมากขึ้น และอาจมีค่าความสว่างปรากฏมากถึง 3.0 


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ดาวหางจะปรากฏในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ตำแหน่งของดาวหางขณะนี้จะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา จึงมีเวลาสังเกตเกือบ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป


ดาวหางนิชิมูระ หรือ C/2023 P1 Nishimura ได้รับการยืนยันการค้นพบเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เป็นดาวหางคาบยาว มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี หลังจากโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน 2566 ดาวหางจะค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อีก และจะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า



ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 



ขอบคุณที่มาและภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง