เสียงสะท้อนรถแห่ สงกรานต์คิวงานเป็นศูนย์ ศิลปินสาวเปิดใจ วอนรัฐกำหนดให้ชัด ทำยังไงถึงแสดงได้
เสียงสะท้อนรถแห่ วันสงกรานต์คิวงานเป็นศูนย์ เปิดใจศิลปินสาว โควิดทำพิษ นักร้อง-นักดนตรี หันหลังไปทำอาชีพอื่น วอนรัฐกำหนดมาตรการให้ชัด ทำอย่างไรถึงแสดงได้
วันที่ 13 เม.ย.65 น.ส.ภัคจิราพร จันทรักษ์ หรือ “มิ้น” นักร้องสาวประจำรถแห่ศิลปินอีสาน วัย 28 ปี ชาวจังหวัดขอนแก่น เล่าว่า ในยุคเริ่มแรกของการเข้าสู่วงการศิลปินรถแห่ ราวๆ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคที่ธุรกิจรถแห่เฟื่องฟูอย่างมาก ในแต่ละเดือนมีงานว่าจ้างเข้ามาไม่ต่ำกว่า 20 งาน บางวันมีงานว่าจ้าง 2-3 งาน โดยเฉพาะช่วงออกพรรษา ที่จะมีการจ้างงานให้เป็นไปเล่นตามงานบุญต่างๆ ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง
ทำให้ทั้งนักร้อง นักดนตรี รวมทั้งทีมงานรถแห่ ต่างมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี เฉพาะตนเองที่ทำหน้าที่เป็นนักร้อง เวลาออกทัวร์ไปทำการแสดงแต่ละครั้งมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30,000 – 40,000 บาท เรียกได้ว่า ทีมงานที่ออกไปทัวร์ด้วยกันกว่า 10 ชีวิต ต่างลืมตาอ้าปากได้ บ้านพักชั่วคราวที่หัวหน้าสำนักงานฯ สร้างไว้ให้นักร้อง นักดนตรีได้พักภายในสำนักงาน ต่างคึกคัก ทีมงานทุกคนต่างซักซ้อมดนตรีของคนเองด้วยความสุขและรอยยิ้ม เพื่อเตรียมพร้อมออกไปแสดงฝีมือของตนเองให้ประทับใจเจ้าภาพที่ว่าจ้าง
แต่แล้วทุกอย่างที่เคยสวยงาม ก็ค่อยๆ ลดลง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสควิด-19 งานว่าจ้างที่เคยมีจนแน่นตารางคิวงาน ก็ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนวันนี้ไม่เหลือแม้แต่งานเดียว ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ แทบจำไม่ได้ว่าตัวเองจับไมค์ร้องเพลงบนรถแห่ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เพราะนานมากแล้ว โดยตั้งแต่ที่โควิด-19 ระบาด เราถูกเจ้าภาพเลื่อนงานออกไปโดยไม่มีกำหนด หนักสุดคือ ถูกเจ้าภาพขอยกเลิกงานทั้งที่มีการทำสัญญาว่าจ้างเอาไว้แล้ว มีเหตุการณ์หนึ่งที่ตัวเองและทีมงานจำได้มาจนถึงวันนี้
ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนยังจุกในใจทุกครั้งที่พูดถึง คือ ทีมงานเราได้รับการว่าจ้างให้ไปทำการแสดงในงานอุปสมบทงานหนึ่งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พอไปถึงงานเจ้าภาพก็ต้อนรับเราเป็นอย่างดี หาข้าวหาน้ำเลี้ยงทีมงานรถแห่ตามปกติ และทีมนักดนตรีก็ซาวน์เช็คระบบเครื่องเสียงรถแห่เตรียมพร้อมทำการแสดง แต่พอถึงช่วงจะทำการแสดง เราได้รับแจ้งจากเจ้าภาพว่า ไม่สามารถให้ทำการแสดงได้ เพราะผู้นำชุมชนไม่อนุญาต เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
เราก็พยายามสอบถามและให้เจ้าภาพช่วยหาทางให้ทีมงานได้ทำการแสดง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าวันนั้นเราจะได้เล่น แต่ขณะกำลังจะเริ่มเล่น จู่ๆ ก็มีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจวิ่งเข้ามาจอดหน้ารถแห่ พร้อมกับบอกเราว่า หากทำการแสดง ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ท้ายที่สุดวันนั้น ทีมงานเราต้องขับรถแห่กลับมาสำนักงาน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง มีเพียงค่าน้ำมันที่เจ้าภาพมอบให้ ยังจำได้ว่าวันที่นั่งรถกลับมาสำนักงานบรรยากาศบนรถแห่เงียบเหงาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”
น.ส.ภัคจิราพร เล่าอีกว่า นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ที่ไม่มีงานว่าจ้าง นักดนตรีและทีมงานหลายคน ต่างพากันหันไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อเอาตัวรอด นักดนตรีที่เคยจับกีต้าร์ต้องหันไปแบกถังก๊าซหุงต้มส่งตามบ้านลูกค้า บ้านพักนักร้องนักดนตรีในสำนักงานที่เคยคึกคักเวลาที่ทีมงานล้อมวงกันซักซ้อมดนตรีก็กลายเป็นเงียบเหงา เพราะไม่มีงานมานานเกือบครึ่งปีแล้ว
หนักสุดจนหัวหน้าสำนักงานฯ ต้องจำใจขายรถแห่ ขนาด 6 ล้อไป เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในสำนักงาน เหลือเพียงรถแห่ ขนาด 10 ล้อ คันเดียวที่จอดนิ่งสนิทอยู่ใต้โดมหลังคา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่รถแห่คันนี้จะมีโอกาสได้ออกไปโลดแล่น พานักร้องและนักดนตรี สร้างความสนุกสนานให้กับลูกค้าได้อีกครั้ง หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยินเสียงเรา อยากให้หาทางช่วยเหลือเราด้วย เราไม่ได้ต้องการเงินเยียวยา แต่เราต้องการทางออกหรือมาตรการที่ให้เราสามารถกลับมาทำอาชีพที่เรารักได้
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราถือเป็นกลุ่มอาชีพกลุ่มแรกๆ ที่ถูกจำกัดไม่ให้ทำอาชีพของเรา และดูเหมือนว่า เราจะเป็นกลุ่มอาชีพกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับอนุญาตให้กลับมาทำอาชีพของเราตามปกติได้ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หากหน่วยงานภาครัฐได้ยินเสียงเรา เราอยากให้รับรู้ว่า เราไม่ได้ต้องการเงินเยียวยา แต่เราต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการให้เราสามารถกลับมาทำอาชีพของเราได้
อยากให้กำหนดมาเป็นข้อๆ ว่าหากเจ้าภาพว่าจ้างเราไปทำการแสดง จะต้องปฏิบัติอย่างไร เช่น ทำการแสดงได้ แต่ห้ามเคลื่อนรถ หรือ จำกัดคนเข้าชม รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ ซึ่งเราพร้อมปฏิบัติตาม และเชื่อว่าพี่น้องชาวรถแห่ทุกคนก็พร้อมปฏิบัติตาม เพราะวันนี้นานมากแล้ว ที่อาชีพของเราถูกลืม และไม่มีหน่วยงานไหนลงมาช่วยเหลือเรา