รีเซต

เปิดตัวสมุดภาพประวัติศาสตร์ "สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy" เฉลิมพระเกียรติ 38 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

เปิดตัวสมุดภาพประวัติศาสตร์ "สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy" เฉลิมพระเกียรติ 38 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
TNN ช่อง16
15 สิงหาคม 2567 ( 19:04 )
33

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 38 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2568 กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำ สมุดภาพประวัติศาสตร์ “สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy” เฉลิมพระเกียรติ 38 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา  เพื่อเผยแพร่พระวิสัยทัศน์ และ พระอัจฉริยภาพ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นของไทย ให้มีความร่วมสมัยและเป็น ที่ยอมรับในระดับสากล ผ่านแนวคิด “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน : Sustainable Fashion”

วันนี้ (14 ส.ค. 67) เวลา 14.00 น. ที่ ห้องประชุมฟีนิกซ์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการสมุดภาพประวัติศาสตร์ "สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy" เฉลิมพระเกียรติ 38 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรม/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ นายศิริชัย ทหรานนท์ นายภูภวิศ กฤตพลนารา รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP และสื่อมวลชน ร่วมในงานเป็นจำนวนมาก 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่หลักในการทำหน้าที่ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งชาวมหาดไทยล้วนสำนึกในพระกรุณาคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน  รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ มาเป็นแนวทางในการหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนคนไทย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงานหัตถศิลป์หัตถกรรม ด้วยพระองค์ทรงมีความสนพระทัยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยการตามเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทุกหนแห่ง ซึ่งพื้นที่ที่เสด็จนั้นล้วนแต่มีความยากลำบาก ทำให้ได้ทรงซึมซับและถูกหล่อหลอมให้เป็น "เจ้าฟ้าหญิงนักพัฒนา" และเมื่อทรงเจริญวัย พระองค์เสด็จไปทรงงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วยการ coaching ทำให้ประชาชนคนไทยในทุกถิ่นที่ได้มีความอยู่ดี กินดี มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงในการเลี้ยงดูจุนเจือตนเอง และครอบครัวให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 ความว่า "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

"คำว่า "แก้ไขในสิ่งผิด" เราต้องรู้จักสำรวจตรวจสอบการใช้ชีวิตของเราเองว่ามีสิ่งใดที่ทำให้ส่งผลในด้านไม่ดีในชีวิต เช่นเดียวกัน ในด้านงานหัตถศิลป์หัตถกรรม พระองค์ได้พระราชทานลายผ้าพระราชทานเพื่อปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ของช่างทอผ้าและผู้ประกอบการได้มีทำให้เกิดผลงานที่มีลวดลาย รูปแบบทันสมัย ที่เหนือไปกว่าคำว่า "สืบสาน รักษา" ด้วยการ "ต่อยอด" เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกซื้อเลือกหา ซึ่งถือเป็นการแก้ไขในสิ่งผิดด้านความเชื่อ เพราะไม่ใช่ของเก่าไม่ดี แต่เราต้องต่อยอดด้วยลวดลายใหม่ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้มากขึ้น

ซึ่งพระองค์ได้พระราชทาน "โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก" คือความสุขที่ได้สวมใส่ผ้าไทยในทุกที่ ทุกเวลา ทุกโอกาส ทุกช่วงวัย พระองค์ทรงน้อมนำพระราชดำริที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงรื้อฟื้นให้ผืนผ้าไทยทุกผืนได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการต่อยอดงานด้านแฟชั่นดีไซน์และวิชาการทางแฟชั่น และพระราชทานลายผ้า ได้แก่ ผ้ามัดหมี่ลายพระราชทาน "ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" และล่าสุด คือ "ลายสิริ วชิราภรณ์" 

อีกทั้งพระราชทานแนวคิด Sustainable Fashion และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน "Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน" แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สร้างสรรค์และผู้สวมใส่ เป็นการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้ระดับมาตรฐานสากล ที่ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ได้สนองแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จนทำให้ผืนผ้าไทยทุกวันนี้ "ผ้าไทย" ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศสร้างรายได้อันมหาศาลกว่า 70,000 ล้านบาทให้กับคนไทย" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พระองค์ได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้แก่ตน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง (เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน) และนางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านกรมการปกครอง (เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน) และพระราชทานพระดำรัสว่า "เป็นหน้าที่ของคนมหาดไทยทำให้เกิด Sustainable Village จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนโครงการ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ขยายผลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในชีวิต "เพราะคำตอบของการพัฒนาอยู่ที่หมู่บ้าน" 

ด้วยการสร้าง “ทีม" มีระบบคุ้มบ้าน มีโครงสร้างการดูแลคนในหมู่บ้าน เป็น "ผู้นำต้องทำก่อน" หมั่นพูดคุย ประชุม สร้างพลังความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน ให้เกิดความเหนียวแน่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามภูมิสังคม มีการปลูกพืชผักสวนครัว การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ในทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน" ที่พุ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม SDGs ทั้ง 17 ข้อ เพื่อจะได้ร่วมกันทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" อย่างยั่งยืนสืบไป


นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า หนังสือ "สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy" เป็นการจดจารจารึกบันทึกการเสด็จทรงงานในทุกด้านตลอด 4 ปีรวม 40 ครั้ง ซึ่งเป็นพระกรุณาคุณที่พระองค์ทรงพระเมตตาแก่กระทรวงมหาดไทย และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ลงไป coaching การประกวดผ้า ซึ่งเราได้ลงพื้นที่ถึงใต้ถุนบ้าน โดยมีข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทำงานเคียงข้างกับคณะทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ 

ซึ่งทุกปีจะมีเรื่องราวที่สนุกสนาน เป็นความทรงจำที่ดีที่พวกเราทุกคนได้ร่วมถวายงานพระองค์ท่าน จนทำให้พี่น้องช่างทอผ้า และผู้ประกอบการ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตจนถึงปัจจุบัน และทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชน ซึ่งจุดเด่นที่พวกเราสัมผัสได้ถึงน้ำพระทัยอันใหญ่ยิ่ง คือ เราจะเห็นได้ว่าอะไรที่มาจากประชาชน พระองค์ท่านจะทรงโปรดและประทับและตรัสถามพูดคุยอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจะตรัสถามเสมอว่า "เมื่อไหร่จะได้เจอกันอีก" 


นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของกิจการ แบรนด์เธียเตอร์ กล่าวว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริฯ ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในด้านแปรรูปและออกแบบตัดเย็บที่ตนมีความเชี่ยวชาญ ถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการและช่างทอผ้าทั่วประเทศ ซึ่งจากวันแรกจนถึงปัจจุบัน เราจะเจอทั้งกลุ่มใหม่บ้าง และกลุ่มเก่าบ้าง ซึ่งเราได้รับ feedback ว่า เมื่อนำไปปรับปรุงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในสิ่งที่ดีขึ้น 

ดร. ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ นักการทหาร และศิลปิน ซึ่งพระองค์มีพระกรณียกิจเยอะมาก ดังนั้น เวลาทรงงานบนโต๊ะทรงงานถือเป็นเวลาที่มีค่า จึงจะทรงเข้มงวด และทรงดุ เพราะทรงย้ำเสมอว่า จะเป็นการดึงสติให้ทุกคนได้ฟังและจดจ่อกับงานตรงหน้า ขอให้ฟังแล้วทำตาม "ผลงานต้องสวยและคุณภาพดีด้วย" ซึ่งในปีถัดมา ทุกคนต่างกลับมาทูลถวายรายงานเป็นเสียงเดียวกันว่า ขายดีขึ้นมาก 


นายภูภวิศ กฤตพลนารา ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ Issue กล่าวว่า ในฐานะนักออกแบบที่ได้มีโอกาสลงไปทำงาน เราจะได้รับโจทย์จากพระองค์ท่านมาก่อน และจะทรงตรัสถามหลังจบการลงพื้นที่ว่า วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง พี่น้องช่างทอผ้าได้รับผลอย่างไร ซึ่งช่วงแรกตนรู้สึกเกร็ง แต่หลังจากได้ทำงานร่วมกับทุกท่านทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผลงานในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เป็นผู้เปรียบเสมือนผู้ใหญ่ในครอบครัวที่ให้คำปรึกษาในทุกเรื่อง ท้ายนี้ ตนภาคภูมิใจที่ได้สนองงานและทำงานร่วมกับทุกท่าน จึงขอให้พวกเราทุกคนได้เก็บความภูมิใจและความประทับใจนี้ไว้ตลอดไป

นางนิชาภา แซมลำเจียก หรือ ผึ้ง ประธานกลุ่มเพชปุระ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า สัญลักษณ์ Sustainable Fashion ที่พระองค์พระราชทานให้เรา เป็นสัญลักษณ์รับรองผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นสัญลักษณ์แรกของโลก โดยเมื่อครั้งตนได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมที่ฮ่องกง ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ และตนขอย้ำว่า สัญลักษณ์ Sustainable Fashion เป็นการเปิดชีวิตให้กับตนเองและชุมชน ถ้าทุกคนทำงานบนพื้นฐานของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันจะทวีค่าจนเราไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่า "คุณค่ามันมีมากขนาดไหน" แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม คือ ผลงานได้รับความสนใจสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างล้นหลาม





ข่าวที่เกี่ยวข้อง