แจงเก็บ 'วัคซีนไฟเซอร์' หลังได้รับมอบ นานแค่ 30 วัน ดังนั้น ต้องเร่งฉีดให้ทัน
รองปลัด สธ. แจงการจัดเก็บวัคซีนไฟเซอร์ ไม่ต้องปรับห่วงโซ่ความเย็นใหม่ ใช้ตู้ความเย็น 2-8 องศาเซลเซียสเก็บได้นาน 30 วัน ดังนั้น ต้องเร่งฉีดให้ทัน ยันไม่ให้วีไอพีแย่งโควตาบุคลากรด่านหน้า กำลังเร่งสำรวจจำนวนในแต่ละจังหวัด ก่อนเคาะ 29 ก.ค.นี้
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ กล่าวถึงการจัดเก็บและบริหารจัดการการฉีดวัคซีนไฟเซอร์บริจาค 1.5 ล้านโดส ว่า จากการประชุมเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางบริษัทไฟเซอร์รายงานเรื่องการเก็บวัคซีนว่า
การขนส่งวัคซีนในตู้คอนเทรนเนอร์มานั้นจะอยู่ในอุณหภูมิ - 60 ถึง – 90 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ค่อนข้างนาน เมื่อมาถึงประเทศไทยผ่านการตรวจสอบต่างๆ แล้วจะขนส่งกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ โดยควบคุมอุณหภูมิที่ -25 ถึง – 15 องศาเซลเซียส และเมื่อถึงพื้นที่แล้วสามารถเก็บในตู้เย็นปกติที่ความเย็น 2-8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บวัคซีนไฟเซอร์ได้ 30 วัน และเมื่อดูดออกมาใส่เข็มฉีดยาแล้วจะเก็บได้ 6 ชั่วโมง
"ดังนั้น จะต้องเก็บวัคซีนไว้ที่คลัง ทยอยเบิกแล้วกระจายไปในพื้นที่ ซึ่งต้องมั่นใจว่าเมื่อไปถึงแล้วจะต้องฉีดให้ทันภายใน 30 วัน ฉะนั้นเราจึงไม่ได้มีการปรับเรื่องระบบการทำความเย็นใหม่แต่อย่างใด สามารถใช้ตู้เย็นปกติในการเก็บได้ รวมถึงกรณีวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้ออีก 20 ล้านโดสก็ใช้ระบบเดียวกัน ไม่ต้องปรับปรุงระบบใหม่ ไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพของวัคซีน คุณภาพยังคงที่" นพ.สุระกล่าว
นพ.สุระ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป้าหมายที่สำคัญคือ การฉีดเป็นบูสเตอร์โดสให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยให้คนทำงานที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อในทุกวัน แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ซึ่งคาดว่ามีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าส่วนหนึ่งสมัครใจรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นบูสเตอร์โดสไปแล้ว ขณะนี้เราประสานให้ 77 จังหวัดเร่งสำรวจรายชื่อบุคลากรด่านหน้ากลุ่มที่จำเป็นที่สุด ที่สมัครใจรับวัคซีนไฟเซอร์ ทั้งใน รพ.รัฐและเอกชน สรุปข้อมูลนำส่งมาให้กรมควบคุมโรค โดยจะมีการประชุมร่วมกันในเรื่องของจำนวนแต่ละจังหวัดในวันที่ 29 ก.ค.นี้ เพื่อเตรียมการกระจายวัคซีนไปตามจำนวน
“ยืนยันว่าบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจะได้รับทุกคน เราได้กันวัคซีนให้ในกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ ย้ำว่า คนที่จำเป็นต้องได้วัคซีนตามหลักวิชาการก็ต้องได้ก่อน แล้วเหลือจากกลุ่มนี้เราจะพิจารณากระจายให้ 13 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ระบาด ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะอ้วน และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ในรหัส 602 และ 608 ซึ่งส่วนนี้จังหวัดก็ต้องสำรวจแล้วส่งรายชื่อมาให้กรมควบคุมอีกครั้ง” นพ.สุระ กล่าว
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีหลายกลุ่มกังวลว่าจะมีการนำวัคซีนไฟเซอร์ไปให้กับกลุ่มวีไอพี แย่งโควตาบุคลากรการแพทย์ที่จะใช้เป็นบูสเตอร์โดส นพ.สุระ กล่าวว่า ยืนยันว่าบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าต้องได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสแน่นอนทั้งไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า มีการสำรวจตัวเลขกันอยู่ และจะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 29 ก.ค. อีกครั้ง เพื่อกระจายวัคซีน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบุคลากรที่ฉีดบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วจำนวนหนึ่ง ส่วนตัวเลขคนที่ฉีดด้วยแอสตร้าฯ นั้น อยู่ที่กรมควบคุมโรคเป็นผู้รวบรวม