รีเซต

ออกงานวันแรก! บิ๊กตู่ ตรวจเยี่ยมจุฬาฯ ย้ำไม่อยากเห็นรพ.เทผู้ป่วยโควิด

ออกงานวันแรก! บิ๊กตู่ ตรวจเยี่ยมจุฬาฯ ย้ำไม่อยากเห็นรพ.เทผู้ป่วยโควิด
ข่าวสด
19 สิงหาคม 2564 ( 12:27 )
38
ออกงานวันแรก! บิ๊กตู่ ตรวจเยี่ยมจุฬาฯ ย้ำไม่อยากเห็นรพ.เทผู้ป่วยโควิด

 

บิ๊กตู่ ตรวจเยี่ยมระบบ Home isolation ย้ำไม่อยากเห็นภาพโรงพยาบาลเทผู้ป่วยอีก พร้อมติดตามความคืบหน้าวัคซีน ChulaCov19 รับปากพร้อมปรับกติกาให้เร็วขึ้น

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 ส.ค. 2564 ที่อาคารจตุรัสจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบการดูแลและติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ใน Home Isolation (โฮม ไอโซเลชั่น)และการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ซึ่งเป็นชนิด mRNA จากศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ

 

นอกจากนี้ยังตรวจเยี่ยมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยเซลล์พืชเป็นแหล่งผลิต (วัคซีนใบยา) ในประเทศไทย ที่ใช้ใบยาสูบซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบโปรตีนซับยูนิต โดยมีอธิการบดีจุฬาฯ และผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ นักวิจัยและพัฒนาวัคซีนของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด พร้อมคณะวิจัย ให้การต้อนรับ

 

ทีมแพทย์ รายงานถึงการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Home Isolation ซึ่งขณะนี้มีคนไข้ในการดูแล 800-900 คน สามารถรับผู้ป่วยวิกฤตได้ 60 เตียง พร้อมอธิบายการดูแลผู้ป่วยในระบบ Home isolation โดยผู้ป่วยสามารถแยกตัวอยู่ที่บ้านได้อย่างปลอดภัย และเชื่อมต่อระบบไลน์ของโรงพยาบาล และเข้าแพลตฟอร์ม กินอยู่ดี ซึ่งคนไข้จะเชื่อมต่อข้อมูลแจ้งอาการมายังทีมแพทย์ จึงประเมินอาการของผู้ป่วยว่ามีอาการอย่างไรในแต่ละวัน

 

จากระบบนี้แพทย์ 1 คนจะดูแลผู้ป่วยได้สูงกว่า 100 ราย สำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ต้องการใช้ระบบเทเลเซลล์ สามารถติดต่อได้ที่ สํานักดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

 

นายกฯ กล่าวช่วงหนึ่งว่า นี่คือมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ วันนี้เริ่มมีการวิจัย พัฒนา ด้านต่างๆ เพื่อช่วยลดความแออัดจองผู้ป่วย ทั้งนี้ ตนไม่อยากเห็นภาพคนไปหาโรงพยาบาลไหนแล้วไม่รับรักษา ดังนั้น ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ถ้าไม่รับแล้ว ไปไหนต่อและขั้นตอนเป็นอย่างไร วันนี้ผู้ป่วยรักษาหายมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาอยู่บ้าง

 

นายกฯ ได้พูดคุยให้กำลังใจกับผู้ป่วยในระบบให้ Home isolation ผ่านระบบเทเลเฮลล์ และถามผู้ป่วยว่าพอใจหรือไม่ ซึ่งวันนี้ต้องพัฒนามีการพัฒนาระบบสาธารณสุข และระบบสาธารณสุขของไทยจะดีขึ้นมากในวันข้างหน้า

 

จากนั้นทีมแพทย์ ได้บรรยายความคืบหน้าการจัดทำวัคซีน ChulaCov19 โดยระบุว่า น่ายินดีว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถกระตุ้นภูมิได้เทียบเท่าวัคซีนไฟเซอร์ และสามารถยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม ได้ถึง 4 สายพันธุ์ และขณะนี้เตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 ไว้แล้ว โดยจะใช้เวลาผลิต 6 เดือน ดังนั้น ไม่ว่าจะระบาดรอบไหน ไทยะสามารถรับมือได้ ครั้งนี้ทดสอบแล้วว่าวัคซีนสามารถเก็บไว้ได้ 3 เดือน ในอุณหภูมิ -2 ถึง -8 องศา แต่หากอยู่ในอุณหภูมิห้อง เก็บได้ถึง 2 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ที่เก็บได้เพียง 28 วัน

 

ทีมแพทย์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้ไทยมีวัคซีน 4 วัคซีน จะทำอย่างไรให้วัคซีนไทยได้รับรองและใช้ได้จริงก่อนสงกรานต์ปีหน้า ซึ่งต้องมีกองทุนอย่างน้อย 3,000 ล้าน ต่อ 1 วัคซีน และบริหารข้ามระบบราชการ และต้องให้มีความชัดเจนในเดือนก.ย.นี้ เพื่อนำไปสู่การผลิต แต่หากกติกาไม่ชัดเจน ไม่มีทางว่าไทยจะมีวัคซีนใช้ได้เอง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์การอาหารและยา หรือ อย. หากทำเหมือนไต้หวัน ใช้อาสาสมัคร 4,000-5,000 คน และใช้วัคซีนคู่เทียบ

 

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากให้ทีมนักวิจัยพัฒนาวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด วันนี้ให้งบประมาณ 400 ล้านบาท ให้มีผลสำเร็จ สำคัญที่สุด ต้องให้อย. ปรับกติกา หมอด้วยกันต้องคุยกันได้

 

ขณะที่ทีมแพทย์ อยากให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาดูด้วยกัน เช่นตัวแทนจาก WHO และตัวแทนจาก อย.อังกฤษ ยินดีจะมาช่วย

 

นายกฯ จึงกล่าวว่า หากจะไม่ทำในระบบราชการคงไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณ ที่รัฐบาลต้องระวังหลายอย่าง ขอต้องระวังให้ตนด้วย ตนตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การออกตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ ทำงานที่บ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รอ. สลับกับการเข้าปฏิบัติภารกิจทืี่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง