นักวิจัยแนะให้ “บุหรี่ไฟฟ้าถูกกม.” คุมง่ายกว่า เก็บภาษีเพิ่ม - กำหนดอายุ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเวทีเสวนาเชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้บังคับใช้กฎหมายจากหลายภาคส่วน ร่วมหารือเกี่ยวกับข้อดี-ข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมนำเสนอผลการศึกษาทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างรอบด้าน
รศ.อุ่นกัง แซ่ลิ้ม อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้ศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ถูกสั่งแบนในปี 2558 โดยงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 95 ของผู้ใช้มองว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน และไม่มีการเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดควันมือสอง อีกทั้งยังมีความต้องการให้ภาครัฐออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
จากผลการศึกษา ยังเสนอว่า การควบคุมที่มีประสิทธิภาพควรเริ่มจากการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพื่อให้การกำกับดูแลเกิดขึ้นในวงจำกัดและชัดเจน เช่น
- การจำกัดอายุผู้ซื้อ
- การควบคุมการโฆษณาและฉลากผลิตภัณฑ์
- การกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์
- การจัดเก็บภาษีในอัตราสูง (ร้อยละ 7–15 ของมูลค่าตลาด) เพื่อควบคุมการบริโภค
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย กล่าวเสริมว่า คณะกรรมาธิการได้ศึกษาประเด็นนี้อย่างรอบด้าน และเห็นว่า ควรยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมกำหนดกฎเกณฑ์ควบคุมที่เข้มงวด เช่น
- การจัดเก็บภาษีน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและนิโคตินตามปริมาณ
- การจำหน่ายเฉพาะร้านที่ได้รับอนุญาต
- การตรวจบัตรประชาชนก่อนซื้อ
- การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังหากจำหน่ายให้เด็กและเยาวชน
ขณะนี้ข้อเสนอทั้งหมดได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว อยู่ระหว่างการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการต่อไปในทิศทางใด