รีเซต

อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศไม่ทนจีน หากเดินทางโจมตีไต้หวัน

อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศไม่ทนจีน หากเดินทางโจมตีไต้หวัน
TNN ช่อง16
1 ธันวาคม 2564 ( 15:21 )
84
อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศไม่ทนจีน หากเดินทางโจมตีไต้หวัน

อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น บอกว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ไม่ควรเพิกเฉย หากจีนเดินหน้าโจมตีไต้หวัน และจีนควรเข้าใจในเรื่องนี้


ความตึงเครียดในประเด็นไต้หวันมีขึ้นอย่างมาก หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศตนอย่างชัดเจนมาโดยตลอดถึงอธิปไตยเหนือเกาะแห่งนี้ แม้ว่ารัฐบาลไต้หวันจะย้ำว่า ไต้หวันเป็นอิสระต่อจีน ต้องการสันติภาพ แต่ก็ต้องปกป้องตนเองหากจำเป็นเช่นกัน


อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น กล่าวถึงเรื่องนี้ในระหว่างการประชุมผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ กับองค์กรสถาบันวิจัยนโยบายแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองของไต้หวัน โดยอาเบะกล่าวอ้างถึงหมู่เกาะเซนกากุ ซึ่งจีนเรียกกว่าเตียวหยู ตลอดจนเกาะซากิชิมะ และโยนะกุนิ ที่อยู่ห่างจากเกาะไต้หวันไปเพียงราว 100 กิโลเมตรเท่านั้น


อาเบะ ระบุว่า การแทรกแซงด้วยทหารและอาวุธไปยังไต้หวันนั้น นับเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ต่อญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน


"เหตุฉุกเฉินต่อไต้หวัน ก็นับเป็นเหตุฉุกเฉินต่อญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯด้วย ดังนั้น ประชาชนในกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ไม่ควรมีความเข้าใจผิด ๆ ต่อการรับรู้สิ่งนี้" อาเบะ กล่าว


---โลกต้องการให้ไต้หวันเป็นอิสระ?---


ญี่ปุ่นเป็นแหล่งที่ฐานทัพของกองทัพอเมริกันหลายแห่ง รวมถึงบนเกาะโอกินาวา ซึ่งมีระยะการเดินทางไปยังไต้หวันเพียงชั่วครู่ ดังนั้น หากจีนรุกคืบโจมตีไต้หวัน ก็มีโอกาสสูงที่สหรัฐฯ จะส่งกองกำลังจากโอกินาวาเข้าช่วย


อาเบะ ซึ่งเพิ่งก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว เป็นหัวหน้าของพรรค LDP อีกทั้งยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองในพรรคอยู่มาก, เขากล่าวต่อว่า "ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และประชาชนทุกคนที่เชื่อในประชาธิปไตย จำเป็นต้องกระตุ้นซ้ำ ๆ ไปยังประธานาธิบดีสี และเหล่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ว่า จงอย่างเดินบนเส้นทางที่ผิด”


"ไต้หวันที่แข็งแรง, ไต้หวันที่รุ่งเรือง และไต้หวันที่ปกป้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ล้วนคือสิ่งที่ญี่ปุ่นก็ให้คุณค่า และนี่ก็คือสิ่งที่ทั่วโลกต้องการเช่นกัน" อาเบะ กล่าว


---ชาวญี่ปุ่นพร้อมช่วยไต้หวันจริงหรือ?---


ผลสำรวจล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากชาวไต้หวัน 1,075 คน พบว่า ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะเกิดสงครามขึ้นจริง แม้ว่าจะเริ่มมีอุณหภูมิความตึงเครียดเกิดขึ้นต่อเนื่องก็ตาม


ขณะที่อีกราว 58% เชื่อว่าญี่ปุ่นจะเดินหน้าส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และกองกำลังป้องกันตนเอง มาช่วยไต้หวันสู้ หากเกิดสงครามขึ้นจริง


ส่วนอีก 35% ไม่เชื่อว่ากองกำลังญี่ปุ่นจะเข้าช่วย และอีก 28.5% ก็ไม่เชื่อว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯเช่นกัน


---แต่ดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก หากญี่ปุ่นจะส่งกองกำลังไปช่วย---


โทชิมิตซึ ชิเกมูระ ศาสตราจารย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย วาเซดะ ชี้ว่า เนื่องจาก ญี่ปุ่นถูกจำกัดด้วย "รัฐธรรมนูญฉบับสันติ" ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการใช้กองกำลังป้องกันตนเอง และจะไม่มีการกะเกณฑ์คนหนุ่มเข้าไปเป็นอาสาสมัครสำหรับกองกำลังอย่างเร่งด่วนด้วย


"แม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่ก็คิดว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนชาวไต้หวันและรัฐบาลด้วย”


“แต่ด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็อาจทำให้หลายคนที่ตอบแบบสอบถามอย่างเข้าใจผิดได้ว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้การสนับสนุนด้านกำลังทหารได้" ศจ.ชิเกมูระ กล่าว


---สุดท้าย ญี่ปุ่นไม่น่าช่วยไต้หวันจริง---


สำนักข่าว South China Morning Post ไปสอบถามความเห็นของหนุ่มชาวญี่ปุ่นหลายคน ซึ่งล้วนกล่าวไปในทางเดียวกันว่า ไม่คิดว่าญี่ปุ่นจะใช้กำลังเข้าช่วยไต้หวันได้


อิซเซอิ อิซาวา วัย 22 ปี บอกว่า ไม่มีความคิดที่จะเข้าร่วมกองกำลังป้องกันตนเอง และแม้จะเกิดสงครามขึ้นจริง เขาก็คิดว่า สงครามจะสิ้นสุดลงก่อนที่เขาจะฝึกซ้อมเสร็จด้วยซ้ำ แต่เขาก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะญี่ปุ่นไม่สามารถต่อสู้ให้กับไต้หวันได้


ขณะที่อีกคนกล่าวว่า การที่ญี่ปุ่นอาจเข้าช่วยไต้หวัน ในความขัดแย้งระหว่างไต้หวันกับจีน เป็นเพียงความฝันของชาวไต้หวันเท่านั้น


ศจ.ชิเกมูระ ระบุว่า หนทางเดียวที่ญี่ปุ่นอาจมีส่วนร่วมในความขัดแย้งประเด็นไต้หวัน ก็คือ หากเกิดการต่อสู้กันและรวมเอาเกาะโอกินาว่าของญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ซึ่งเกาะดังกล่าวมีฐานทัพสหรัฐฯขนาดใหญ่ จึงอาจมีผลให้เกิดการต่อสู้ขึ้นได้


---ไต้หวันส่งเครื่องบินรบไล่เครื่องบินรบจีน 27 ลำ---


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า กองทัพอากาศไต้หวันได้ส่งเครื่องบินรบหลายลำ ไปเตือนและขับไล่เครื่องบินรบจำนวน 27 ลำที่กองทัพอากาศจีนส่งเข้ามาในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน


ปฏิบัติการของเครื่องบินรบจีนครั้งนี้ ประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่ 18 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีศักยภาพบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ 6 ลำ และเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงทางอากาศอีก 1 ลำ


ไต้หวันระบุว่า พฤติกรรมของกองทัพจีนในลักษณะนี้ เข้าข่ายยุทธศาสตร์เขตสีเทา เพื่อหวังบั่นทอนแสนยานุภาพของไต้หวัน ด้วยการส่งเครื่องบินรบเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการโยนหินถามทางการตอบโต้ของไต้หวัน


ช่วงต้นเดือนตุลาคม เป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จีนได้ส่งเครื่องบินรบมากเกือบ 150 ลำเข้าไปในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน ทำให้ไต้หวันต้องส่งเครื่องบินรบไปแจ้งเตือนเป็นครั้งคราว แต่สถานการณ์ไม่ถึงระดับการปะทะทางทหาร


ด้านสื่อของรัฐบาลจีนระบุว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประชุมนาน 3 วัน จนถึงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กับเจ้าหน้าที่ทางทหารระดับสูง เพื่อยกระดับกองทัพจีนให้แข็งแกร่งมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง