ผับบาร์วืด! รอดูสถานการณ์โควิดต่ออีกเดือน เหตุหลายแห่งไม่เข้มมาตรการ
เมื่อวันที่ 4 มกราคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ล่าสุดพบว่ามีต้นเหตุมาจากสถานประกอบการร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ว่า ประเทศไทยช่วงคริสมาสต์ ปีใหม่ มีการเดินทางท่องเที่ยว และเฉลิมฉลองจำนวนมาก ส่งผลให้หลายเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น เดิมติดเชื้อสูงสุดที่กรุงเทพมหานคร แต่วันนี้ จ.ชลบุรี มีผู้ติดเชื้อสูงสุด และอีกจังหวัดสำคัญ คือ จ.อุบลราชธานี มีรายงานติดเชื้อถึง 328 ราย รวมถึง จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ จ.สมุทรปราการ แนวโน้มการติดเชื้อระยะหลัง โดยเฉพาะการติดเชื้อในประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากการทำกิจกรรมรวมตัวกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย อยู่ในห้องปิดอับ เช่น ร้านอาหาร ร้านอาหารกึ่งผับบาร์
“จริงๆ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ไม่มีนโยบายให้เปิด แต่มีหลายร้านมาขอเปิดเป็นร้านอาหาร พออนุญาตแล้วแทนที่จะเปิดร้านอาหารจริงๆ กลับเปิดเป็นผับบาร์ พฤติกรรมหลายแห่งเหมือนผับ บาร์ คาราโอเกะเลย เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ผมลงพื้นที่เองที่ จ.อุบลฯ สังเกตข้างนอกเป็นร้านอาหาร นอกอาคาร อากาศถ่ายเทสะดวก แต่ในความเป็นจริง พอดึกๆ ก็ปิดม่านลง อากาศถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้หนาแน่น มีเวที มีเครื่องเสียง เมื่อสอบถามผู้เกี่ยวข้องพบว่า ยังมีการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยสวมหน้ากากอนามัย คุยเสียงดัง มีร้องเพลง เต้นรำ เหมือนผับบาร์ นี่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเลย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจได้ไปแจ้งความ และดำเนินมาตการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งวันนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้กำชับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้เข้มงวดในสถานที่เสี่ยงเหล่านี้ หากสถานที่ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที” นพ.โอภาส กล่าว
ทั้งนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอย้ำประชาชน ท่านเลือกได้ ร้านเหล่านี้เป็นร้านที่มีความเสี่ยงสูง ลำพังตัวท่านแข็งแรง ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อคงไม่เป็นอะไร แต่หากเอาไปติดคนที่บ้าน พ่อ แม่ คนสูงอายุที่บ้านก็อาจจะทำให้ท่านอาการหนักและเสียชีวิต ดังนั้น อย่าเห็นแก่ความสนุกไม่เท่าไร แล้วพาโรคระบาดไปทั่ว
“ดังนั้น ในสภาวะที่บยังมีการระบาดของโรคโควิด -19 โดยเฉพาะโอมิครอนที่ระบาดเร็วขึ้น เราพยายามชะลอการระบาด ตรงไหนเป็นจุดเสี่ยงต้องขอความร่วมมือประชาชนงด เลี่ยง ไปสถานที่เสี่ยง ทั้งนี้ จากการทำนายหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนมกราคมนี้ จะเพิ่มขึ้น เราต้องชะลอการติดเชื้อให้มากที่สุด และแม้โอมิครอนจะอาการไม่รุนแรงเหมือนเดลต้า แต่ก็เตรียมพร้อมยารักษาไม่ให้ติดขัด และเน้นการดูแลที่บ้านและในชุมชน (HI/CI)” นพ.โอภาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีรายงานร้านอาหารกึ่งผับบาร์ทำผิดแล้วกี่แห่ง และมีการลงโทษไปแล้วกี่แห่ง นพ.โอภาส กล่าวว่า พบลักษณะดังกล่าวหลายๆ จังหวัด ขณะนี้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) รวบรวมข้อมูล โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเข้มงวด ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ.
“โดยกฎหมายตอนนี้มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีโทษค่อนข้างหนัก ขอให้ช่วยกันเข้มงวดกวดขัน สิ่งสำคัญคือ ประชาชนหากไม่ไป เขาก็เปิดไม่ได้” นพ.โอภาส กล่าวย้ำ
เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์เปิดผับ บาร์จากนี้ จะพิจารณาอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า การประเมินราวๆ 1 เดือน แบ่งเป็น 2 สัปดาห์แรก เพื่อดูสถานการณ์การติดเชื้อตัวเลขจะพุ่งขึ้นเร็วหรือไม่ และ 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม จะประเมินอัตราการเสียชีวิตดังนั้น ส่วนตัวคงประมาณ 1 เดือน แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว 2 สัปดาห์ คงประเมินและตัดสินใจได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ ศบค. ที่จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ ส่วนระบบเทสต์ แอนด์ โก (Test & Go) ยังชะลอการเปิดออกไปก่อน ไม่อนุญาตให้เปิดลงทะเบียนเข้ามาเพิ่มเติม ส่วนคนที่ลงทะเบียนตกค้าง และยังไม่ได้เข้ามานั้น จะให้เข้ามาหรือไม่ แต่ความเห็นของ สธ.นั้นไม่อยากให้เข้ามา เพราะมีโอกาสนำเชื้อเข้ามาอีก หากจะเข้ามาให้เข้ามาแบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ซึ่งแซนด์บ็อกซ์ ที่ จ.ภูเก็ต ยังทำได้ดี และมีหลายจังหวัดที่ขอเปิดเพิ่มก็จะช่วยแบ่งเบาภาระให้คนเดินทางเข้าประเทศไทยได้มากกว่าเปิดที่เดียว
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังการรับมอบน้ำยาตรวจหาเชื้อโควิด -19 แบบ RT-PCR จำนวน 30,000 ชุด จากมหาวิทยาลัยสยามว่า สำหรับมาตรการต่างเพื่อเป็นการควบคุมป้องกันโรคโควิด -19 เช่น ชะลอเปิดเทสต์ แอนด์ โก และอื่นๆ จะเสนอตามขั้นตอน โดยสุดท้ายจะเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 7 มกราคมนี้