รีเซต

เปิดวิธีแก้หนี้เรื้อรังรุนแรง ทางออกของคนเป็นหนี้

เปิดวิธีแก้หนี้เรื้อรังรุนแรง  ทางออกของคนเป็นหนี้
TNN ช่อง16
22 สิงหาคม 2566 ( 09:00 )
145

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนให้ตรงจุดและยั่งยืน โดยจะยกระดับมาตรฐานธุรกิจ การให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อมีการขาย/ฟ้องหนี้ ได้แก่ 


1. หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้

2. หนี้เรื้อรัง ให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้ 

3. หนี้ใหม่ ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต 

4. หนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้


โดยมาตรการที่จะเร่งบังคับใช้ก่อนคือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt หรือ PD) ที่อยู่ในสถานะหนี้ปกติแต่มีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นมาเป็นระยะเวลานาน คาดว่ามีจำนวน 500,000 บัญชี



ทั้งนี้ ผู้ให้บริการต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ ตลอดวงจรหนี้ ได้แก่

ก่อน/กำลังจะเป็นหนี้ :  ต้องโฆษณาและเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน ไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้เป็นหนี้เกินตัว

ระหว่างเป็นหนี้  : ส่งเสริมการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (Nudge) รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน เช่น ทำระบบอัตโนมัติให้ลูกหนี้จ่ายชำระมากกว่าขั้นต่ำ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย

เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้  : ต้องมีแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และ

เมื่อจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้ ต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ ตลอดจนผู้รับโอนหนี้ ต้องกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างเหมาะสม



“ ผู้ให้บริการต้องดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น โดยจะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (Revolving Personal Loan) ที่มีรายได้น้อย และเป็นหนี้เรื้อรัง ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ”


กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 

กลุ่มเรื้อรังทั่วไป (General PD) เป็นสถานะหนี้ปกติ จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นมานาน 3 ปีย้อนหลัง ลูกหนี้จะได้รับข้อความแจ้งเตือน ว่ามีสัญญาณเป็นหนี้เรื้อรังแนะนำให้จ่ายชำระหนี้ต่อเดือนให้มากขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

กลุ่มเรื้อรังรุนแรง (Severe PD) เป็นสถานะหนี้ปกติ จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นมานาน 5 ปีย้อนหลัง และมีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ โดยเป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจการเงินที่รายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ส่วนลูกหนี้ Nonbanks อื่นๆ รายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน


โดยลูกหนี้สามารถสมัครเข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายใต้ PD เพื่อจบหนี้ภายใน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง EIR ไม่เกิน 15% ต่อปี ภายใต้เงื่อนไข ไม่สามารถเบิกเงินเพิ่มได้จนกว่าจะปิดจบหนี้ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน และควรมีรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่า เข้าปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ PD ซึ่งการเข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรังเป็นไปตามความสมัครใจของลูกหนี้



"มาตรการ Responsible Lending นี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เว้นแต่ส่วนที่เกี่ยวกับการแก้หนี้เรื้อรัง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เพื่อให้ผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับระบบงาน และจะทยอยใช้ตามระดับรายได้ของลูกหนี้ ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ให้บริการแต่ละกลุ่ม"


นอกจากนี้ ธปท.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing : RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio : DSR)

"มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ช่วยแก้ปัญหาหนี้เดิม ดูแลหนี้ใหม่ และทำให้หนี้ครัวเรือนไทยลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืนต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน"



เรียบเรียงโดย  อริสา  แสงอำพันธ์  

TNN ข่าวเที่ยง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง