รีเซต

อนุทิน เตรียมเสนอ ศบค. กำหนด การกักตัวเป็นนโยบายชาติ พร้อมลดเวลาเหลือ 10 วัน

อนุทิน เตรียมเสนอ ศบค. กำหนด การกักตัวเป็นนโยบายชาติ พร้อมลดเวลาเหลือ 10 วัน
มติชน
29 ตุลาคม 2563 ( 13:44 )
247

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 8/2563

 

นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนผู้ป่วยในประเทศก็อยู่ในสถานกักกันโรค(Quarantine)ที่สามารถควบคุมได้ กรมควบคุมโรคให้ความมั่นใจว่าการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ ไม่แพร่ระบาดในวงกว้าง โดยภาพรวมที่ได้นำเรียนต่อคณะกรรมการฯ คือ 1.ประเทศไทยมีทรัพยากรในการป้องกันโรคเพียงพอ 2.การรักษาสามารถลดอัตราการเสียชีวิต และไม่มีผู้ป่วยวิกฤตในห้องไอซียู และ 3.ไทยไม่พบการติดเชื้อในประเทศในระยะยาว

 

นายอนุทิน กล่าวว่า เดิมทีการกักตัว (Quarantine) ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยเป็นเพียงประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19(ศบค.) วันนี้คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบ ร่างนโยบายการกักกันโรคในประเทศ (National Quarantine Policy) ที่มีข้อกำหนดเป็นกฎหมาย เพื่อเป็นการควบคุมระยะยาวและเพื่อประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรคสูงสุด รองรับการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ 1.จัดให้มีระบบการกักกันโรค และสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เหมาะสมกับบริบทของการปฏิบัติงานและกลุ่มเป้าหมาย และเพียงพอทุกพื้นที่ 2.พัฒนากลไกการบริหารจัดการระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันโรคให้เป็นเอกภาพ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด ที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และ 3.เร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า พร้อมกำหนดระบบการจัดการในสถานที่กักกันโรค 10 ข้อ 1.การจัดการสถานที่พัก 2.พื้นที่ส่วนกลางและสถานที่เฉพาะ 3.มีผู้รับผิดชอบทุกขั้นตอนครบตามจำนวนวันที่กำหนด 4.การคัดกรองการเจ็บป่วย หรือสงสัยติดเชื้อโควิด-19 5.การจัดการสิ่งแวดล้อม การบริการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต 6ปการรวบรวม จัดเก็บข้อมูล 7.ระบบรายงานเหตุการณ์ 8.การพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงาน 9.การตรวจประเมินสถานที่กักกันโรค และ 10.มีวิธีการการตรวจสอบย้อนหลังเมื่อพบเหตุการณ์ผิดปกติ รวมทั้งมีการกำกับติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ทั้งในระดับชาติและพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ โดยกรมควบคุมโรคจะนำเสนอต่อ ศบค. ต่อไป

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนต่อไปคือการพิจารณาลดเวลากักตัวให้น้อยกว่า 14 วัน เบื้องต้นคือเหลือ 10 วัน ซึ่งในที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแต่จะต้องเน้นย้ำข้อปฏิบัติที่เข้มงวดในส่วนเวลาที่หายไป 4 วัน เช่น ผู้ออกจากสถานกักกันจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่เข้าไปอยู่ในที่คนหมู่มาก ตรวจวัดไข้ตนเองอย่างต่อเนื่อง มีการรายงานสุขภาพทุกวัน โดยกรมควบคุมโรคเป็นผู้ร่างมาตรการ ข้อปฏิบัติในส่วนนี้ต่อไป

 

“กรมควบคุมโรคมีความพร้อมในการลดเวลากักตัวนานแล้ว แต่มีประเด็นของชาวฝรั่งเศสขึ้นมาก่อน จึงได้ถอนเรื่องออกจาก ศบค. แต่เมื่อไปสอบสวนโรคให้มากขึ้น พบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของมาตรการกักตัว อย่างไรก็ตามการติดเชื้อก็อยู่ในวงแคบและคุมได้” นายอนุทิน กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของการลดเวลากักตัวจะต้องมีวิธีการตรวจหาเชื้อเพิ่มอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ในรายละเอียดจะต้องถามทางกรมควบคุมโรค แต่อย่างไรก็ตามเมื่อลดเวลากักตัวแล้วก็จะมีผู้เดินทางเข้ามามนประเทศจำนวนมากขึ้น วิธีการตรวจก็จะต้องพัฒนาให้มีความรวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น โดยกรมควบคุมโรคจะต้องศึกษาการตรวจทุกรูปแบบ ซึ่งในวิธีที่หารือกันเช่น การตรวจหาเชื้อผู้กักตัวแบบกลุ่ม 10 ราย ใช้น้ำยาตรวจเดียวกัน หากพบว่าไม่มีการติดเชื้อก็สามารถปล่อยได้ แต่หากมีการติดเชื้อก็จะต้องตรวจหาเชื้อต่อไป ซึ่งหากทำได้ก็จะต้องสร้างระบบติดตามผู้กักตัวให้ได้

////////////////////

ข่าวที่เกี่ยวข้อง