รีเซต

ผู้ว่าแบงก์ชาติห่วง 4 ปัจจัยเสี่ยง กระทบเศรษฐกิจไทย ยันไม่หนุนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระเงิน

ผู้ว่าแบงก์ชาติห่วง 4 ปัจจัยเสี่ยง กระทบเศรษฐกิจไทย ยันไม่หนุนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระเงิน
มติชน
11 มกราคม 2565 ( 14:46 )
34
ผู้ว่าแบงก์ชาติห่วง 4 ปัจจัยเสี่ยง กระทบเศรษฐกิจไทย ยันไม่หนุนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระเงิน

เมื่อวันที่ 11 มกราคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the Press ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังเป็นการฟื้นตัวแบบเปราะบาง ไม่รวดเร็ว และฟื้นตัวไม่เท่ากัน หรือเป็นการฟื้นตัวในลักษณะของ K-shape โดยเศรษฐกิจไทยถือว่ายังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ซึ่งคาดว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเทียบเท่ากับในระดับก่อนเกิดโควิด-19 น่าจะเป็นช่วงไตรมาส 1/2566

 

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในปีนี้ มีอยู่ 4 ตัว ที่ต้องเตรียมพร้อมและรับมือ ได้แก่ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงสายพันธุ์ตัวใหม่ ที่จะมีความรุนแรงและยืดเยื้อมากน้อยแค่ไหน 2.อัตราเงินเฟ้อพบว่าค่าครองชีพขึ้น แต่รายได้ของแรงงานไม่ได้ปรับขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม พบว่าอัตราเงินเฟ้อระดับมหภาคไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะราคาสินค้าขึ้นเป็นบางตัว เช่น พลังงาน เนื้อหมู โดยปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.7% และปี 2566 อยู่ที่ 1.4% โดยยังไม่ถึงค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่อยู่ที่ 1-3%

 

3. ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่จะไม่เห็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดด หรือ พุ่งขึ้น เนื่องจากมีมาตรการต่างๆ รองรับ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว การแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน ประกอบกับทางธปท. จะออกเกณฑ์เกี่ยวกับการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ JV AMC ซึ่งจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเข้าไปช่วยเหลือหรือแก้ไขลูกหนี้ เพื่อไม่ให้ถูกทอดทิ้ง มีโอกาสฟื้นตัวได้ในอนาคต อีกทั้งสถาบันการเงินยังมีตัวเลขทุนสำรองอยู่ในระดับสูง จึงมั่นใจว่าไม่เกิดปัญหา

 

4. สถานการณ์โลก ที่ต้องจับตามองมีอยู่ 2 เรื่อง คือ ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ตามอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เพราะโครงสร้างระบบการเงินไทยยังมีความแข็งแกร่ง มีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก หนี้ต่างประเทศมีจำนวนน้อย อีกทั้งเอกชนกว่า 90% มีการเสริมสภาพคล่องด้วยการใช้สินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ที่มาจากฐานเงินฝากเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอีกเรื่องคือปัญหาเศรษฐกิจประเทศจีน ที่เกิดปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเปลี่ยนเศรษฐกิจจากที่พึ่งพานอกประเทศ มาสู่การพึ่งพาในประเทศมากขึ้น

 

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท. ก็จะมีการออกมาตรการทางการเงินมารองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยเน้นการช่วยเหลืออย่างตรงจุด มีความยืดหยุ่นไม่ยึดติด อย่างการเปลี่ยนสินเชื่อซอฟต์โลน ไปสู่สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น การเปลี่ยนมาตรการพักหนี้ ไปสู่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว หรือที่เรียกว่า มาตรการ 3 กันยายน รวมไปถึงการออกมาตรการรวมหนี้ ที่ตอนนี้สถาบันการเงินได้ออกโปรแกรมผลิตภัณฑ์มาเกือบทุกแห่งแล้ว โดยมีความเพียงพอที่จะรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น หากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยืดเยื้อ

 

“ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ธปท. มีความพยายามไม่ให้ระบบการเงินมีความตึงตัว เพื่อไม่ให้การเดินหน้าของเศรษฐกิจสะดุดตัวลง ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทำได้ดีระดับหนึ่ง โดยดูจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อ ที่อยู่ในระดับดีเมื่อเทียบกับบริบทเศรษฐกิจ และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

 

ผู้ว่าธปท. กล่าวถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำลังได้รับความนิยม โดยยืนยันว่า ธปท.ไม่สนับสนุนให้เป็นสกุลในการชำระเงิน เนื่องจากมีความผันผวนสูง รวมถึงมีโอกาสถูกโจรกรรมข้อมูลได้ อย่างไรก็ตามหากปล่อยให้แพร่หลายอาจทำให้ระบบการชำระเงินขาดการบูรณาการ ขาดความมีเอกภาพ แต่ในด้านการลงทุนนั้นสามารถดำเนินการได้

 

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ธปท.ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปถือในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่หากเป็นบริษัทลูกจะต้องมาขออนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี ยกเว้นในกรณีที่บริษัทลูกที่มีหน่วยงานกำกับอื่นดูแลแทน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง