รายงานชี้ 'วัคซีนต้านโควิด-19' พัฒนาโดยจีนมี 'ประสิทธิภาพโดดเด่น'
วอชิงตัน, 12, ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพุธ (9 ธ.ค.) รายงานฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์นิตยสารไซแอนซ์ (Science) ระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตัวหนึ่งที่พัฒนาโดยจีนได้รับผลการทดสอบว่ามี “ประสิทธิภาพที่โดดเด่น”
วัคซีนดังกล่าวซึ่งพัฒนาโดยบริษัทไชน่า เนชันนัล ฟาร์มาซูติคัล กรุ๊ป (CNPG) ผ่านการทดลองระยะสามในสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์หรือยูเออี (UAE) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยมีอาสาสมัคร 31,000 คน จาก 125 ประเทศและภูมิภาคเข้าร่วมทดสอบ ซึ่งทางยูเออีได้ประกาศจดทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
แถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขและการป้องกันโรคของยูเออีระบุว่า การวิเคราะห์ระหว่างการศึกษาของการทดลองระยะสามชี้ว่าวัคซีนดังกล่าวของจีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโรคโควิด-19 ถึงร้อยละ 86
การวิเคราะห์ดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนตัวนี้มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ (seroconversion rate) ของแอนติบอดีที่มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสร้อยละ 99 และมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการปานกลางและรุนแรงถึงร้อยละ 100 นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ยังไม่พบปัญหาด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรง
รายงานบนเว็บไซต์นิตยสารไซแอนซ์ที่ชื่อว่า "วัคซีนโควิด-19 เปี่ยมประสิทธิภาพอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมาจากจีน" (Great efficacy claimed for another COVID-19 vaccine, this one from China) ระบุว่าวัคซีนของบริษัทฯ เป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวที่ห้าที่ส่งสัญญาณว่าออกฤทธิ์ และใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างจากวัคซีนตัวอื่นโดยสิ้นเชิง
รายงานดังกล่าวระบุว่า วัคซีนโควิด-19 อีกสี่ตัวที่มีผลการทดสอบว่ามีประสิทธิภาพ ใช้โปรตีนพื้นผิวของเชื้อโควิด-19 (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับวัคซีนทดลองชนิดเชื้อตายของบริษัทฯ
รายงานยังชี้ว่า วัคซีนซึ่งไม่ได้ผลิตในจีนเหล่านั้น ใช้เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่เข้ารหัสสำหรับโปรตีนพื้นผิวของไวรัสหรือเชื่อมต่อกับยีน เพื่อผลิตเป็นวัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นพาหะ ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าปลอดภัย
บทความดังกล่าวระบุว่า “หากวัคซีนของบริษัทฯ สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 86 และป้องกันการเป็นโรคแบบแสดงอาการได้ร้อยละ 100 จริง มันจะกลายเป็นวัคซีนตัวเด่นที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพที่ดีที่สุด”
ทั้งนี้ วัคซีนซึ่งพัฒนาโดยจีนตัวนี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ภายใต้อำนาจตามมาตรการฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization) ในเดือนกันยายนโดยทางการสาธารณสุขของยูเออี เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่แนวหน้าที่เสี่ยงติดโรคโควิด-19 มากที่สุด